xs
xsm
sm
md
lg

ภรรยา “ร่มเกล้า” ชี้เยียวยาผิดขั้นตอน ยันยังเชื่อมั่น ผบ.ทบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นิชา” ชี้รัฐเร่งรีบเยียวยา-นิรโทษกรรม โดยข้ามขั้นตอนหาข้อเท็จจริงและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะยิ่งส่งเสริมใช้ความรุนแรง ถามถ้าพบทีหลังว่าคนได้เงินเป็นคนฆ่าสามีตนจะทำอย่างไร พร้อมยันยังเชื่อมั่นในตัว ผบ.ทบ.


วันที่ 19 มี.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ว่า กระบวนการปรองดองสมานฉันท์ในมุมมองของตน ในฐานะประชาชนคนธรรมดา สิ่งแรกที่ต้องทำคือค้นหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นก่อน จากนั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อหาคนถูกคนผิด แล้วค่อยชดเชยและเยียวยาเหยื่อที่ได้รับผลกระทบและคนถูก สุดท้ายคือนิรโทษกรรมให้คนผิด อันนี้เป็นตรรกะที่คนทั่วๆ ไปก็น่าจะคิดแบบนี้

เป็นขั้นตอนที่ไม่ควรข้ามลำดับ แต่ขณะนี้มันสลับกัน มีการค้นหาข้อเท็จจริง โดย คอป.(คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) และ ปคอป. (คณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ทาง กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน) ก็ได้มีรายงานเมื่อ กรกฎาคม 54 แต่สิ่งนี้ยังไม่นำมาเผยแพร่ และคาดว่าจะยังคงมีอยู่

ต่อไปคือการดำเนินตามกระบวนการยุติธรรม ที่จะช่วยบอกว่าใครถูกใครผิดแล้วค่อยเข้าสู่ขั้นตอนการเยียวยา แต่วันนี้ขั้นตอนของรัฐบาล คือการชดเชยเยียวยา สิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันก็คือตั้งคณะกรรมการปรองดอง โดยมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าทำการศึกษา ซึ่งก็ได้เสนอให้มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 4 ขั้นตอนมันเกิดขึ้น แต่น้ำหนักไม่เท่ากัน แล้วก็กระโดดไปขั้นตอนที่ 3-4 โดยขั้นตอนที่ 1-2 ยังไม่เกิด

นายนิชากล่าวต่อว่า คำถามต่อไปคือคู่กรณีที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ทุกฝ่ายบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต้องเป็นที่ยอมรับของทุกคน ขอถามว่าคำจำกัดความของคำว่าคู่กรณีมีใครบ้าง ตนลองสรุปมาคร่าวๆ ก็มี พ.ต.ท.ทักษิณ นายอภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองอื่นๆ นปช. กลุ่มพันธมิตรฯ เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ อีกกลุ่มก็อาจจะเป็นเสื้อหลากสี กลุ่มในเฟซบุ๊ก เสื้อชมพู ฯลฯ และกลุ่มสุดท้ายคือ ผู้ประกอบการราชประสงค์ นักธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ช่วงนั้น ชาวกรุงเทพฯ ที่กระทบกระเทือนทั้งจิตใจ-ทรัพย์สิน แล้วมีอะไรที่ทำให้คนทั้งหมดนี้แสดงความเห็นว่ายอมรับมาตรการที่เกิดขึ้นหรือไม่ มันต้องเปิดฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และรอบคอบพอควร ไม่ใช่ฟังแค่รายงานจากสถาบันพระปกเกล้า แม้มีการสอบถามจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้ง 47 คน แต่อย่างน้อยตนไม่ได้ถูกสัมภาษณ์ด้วย ฉะนั้นรายงานนี้ไม่มีมุมมองของญาติผู้เสียชีวิต

นางนิชากล่าวอีกว่า ขั้นตอนค้นหาข้อเท็จจริง ไม่ทราบว่าจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร ตอนนี้ คอป.ทำงานอยู่ แต่มาตรการต่างๆ ออกมาแล้ว แล้วรายงานมันจะเสร็จทันมาตรการเยียวยาและนิรโทษกรรมหรือเปล่า รายงานของกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ทำเสร็จแล้วตอนปี 2544 ก็ไม่รู้จะใช้ประโยชน์อะไร ซึ่งรายงานนั้นระบุว่า ผู้ชุมนุมเสื้อแดงใช้สิทธิการชุมนุมเกินจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ส่วนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการภายใต้กฎหมาย แล้วในนี้ก็ยังระบุการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ว่ามีแผนฆาตกรรมทหาร เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา สิ่งเหล่านี้ได้ใช้ประโยชน์หรือไม่ หรือเสร็จแล้วก็เก็บเอาไว้

มาที่ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ทุกฝ่ายก็อ้างหลักนิติรัฐ-นิติธรรม เท่าที่สอบถามจากผู้รู้ นิติธรรม คือสิ่งที่เหนือรัฐ หลักธรรมที่เหนือกฎหมาย อย่างการนิรโทษกรรม หรือเยียวยา แต่ก็ยังไม่มีคำตอบในกระบวนการยุติธรรมชัดเจน ว่าถ้ายึดหลักนิติรัฐ แล้วการฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน ผิดหรือไม่ผิด

เมื่อถามว่ายังเชื่อมั่นในขั้นตอนค้นหาข้อเท็จจริงหรือไม่ นางนิชากล่าวว่า ตนเป็นข้าราชการ และเชื่อมั่นในระบบ จึงอดทนและให้ความร่วมมือมาตลอด แต่วันนี้ที่ต้องออกมาถามเพราะจากการติดตามข่าว มีสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ เพราะหากย้อนไปปี 2554 ดีเอสไอสรุปคดี พล.อ.ร่มเกล้า อยู่ในกลุ่มที่ 1 คือการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของกลุ่ม นปช. และจับผู้ต้องหาได้

แต่พอมาปีนี้ ตนได้มีโอกาสสอบถามกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม) ซึ่งก็ได้ส่งสำนวนล่าสุดมาให้ เมื่อตนอ่านแล้วสรุปสั้นๆ ได้ว่า ดีเอสไอไม่มีหลักฐานที่จะทราบตัวคนร้าย และล่าสุดก็เจอในหนังสือพิมพ์ ว่านายธาริต (อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ) ให้สัมภาษณ์ว่าคดีไม่คืบ แล้วยังบอกว่าได้จัดให้การเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า อยู่ในกลุ่มที่มาจากการกระทำของผู้ที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม คือ กลุ่มชายชุดดำ แต่พอตนโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กจนเป็นประเด็นข่าว นายธาริตก็ให้ข่าวว่าตนเข้าใจผิด

แล้วเมื่อเช้านี้ก็มีข่าวอีกว่า พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ บอกว่าจะจัดกลุ่มของคดีใหม่ ในขณะที่สำนวนไต่สวนเสื้อแดงทยอยถึงศาล ไม่ทราบว่าทำไมต้องจัดใหม่ ย้อนไปต้นปี 2554 มีความคืบหน้าของคดี แล้วจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น หลักฐานตรงนั้นเอามาใช้ดำเนินการต่ออย่างไร อยากถามเพื่อสร้างความกระจ่าง

เมื่อถามว่าคาดหวังกับกองทัพอย่างไร ในการเป็นตัวแทนติดตามความคืบหน้าของคดี นางนิชากล่าวว่า ตนถือเป็นครอบครัวของกองทัพบก และกองทัพบกก็ดูแลครอบครัวตนอย่างดีมาโดยตลอด ฉะนั้นตนมีความเชื่อมั่นในกองทัพบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่ พล.อ.ร่มเกล้า เชื่อมั่นในความจงรักภักดีของท่านอย่างไม่ต้องสงสัยใดๆ เลย

นางนิชากล่าวต่อว่า ส่วนขั้นตอนที่ 3 ชดเชย-เยียวยา ดูเหมือนคืบหน้ามากสุด คอป.และมติ ครม. ก็บอกว่าต้องพิสูจน์คนรับเงินว่าไม่ใช่คนทำผิด แต่ขณะนี้ดูเหมือนค่อนข้างจะเร่ง ถามว่าไม่ต้องรอผลสอบสวนหรือ แล้วกำหนดไว้ด้วยต้องไม่เป็นบุคคลที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา หรือถูกดำเนินคดี หรือปรกฎหลักฐานว่าไม่เหมาะสมในการได้รับเงิน คำถามคือ คดีหมายถึงอะไร เป็นคดีที่ติดตัวมาก่อนเกิดเหตุการณ์ชุมนุม หรือหลังเกิดเหตุการณ์ เพราะมีคนที่ไปยื่นขอรับการเยียวยา มีคดีติดตัวมาก่อนหลายคน

อีกทั้งตามความเข้าใจ การเยียวยาจะต้องไม่เยียวผู้กระทำผิด ซึ่งต้องพิสูจน์ก่อนไม่ใช่หรือ แล้วผู้ที่ได้รับการเยียวยาไปแล้ว อาจมีส่วนฆ่าสามีตนก็ได้ ถ้ามาพบภายหลังว่ากระทำผิด จะทำอย่างไร

นางนิชากล่าวอีกว่า ขั้นตอนที่ 4 คือ การนิรโทษกรรม มีนักวิชาการบอกว่าถามเหยื่อไม่ได้ เพราะพวกเราไม่ให้อภัย การให้อภัยพวกเราทำได้ แต่อย่างที่นางอังคณา นีละไพจิตร บอกว่าคนที่เราให้อภัยจะรู้หรือเปล่าว่าเราให้อภัยเขา แล้วจะรู้หรือเปล่าว่าเขาทำผิด น่าเป็นห่วงว่าคนผิดที่ยังลอยนาล ถ้ามีโอกาสเขาจะทำผิดอีกหรือเปล่า

สิ่งที่ยังติดตาอยู่ คือภาพช่วงชุมนุม ที่มีเยาวชนจุดระเบิดเพลิง จุดแก๊สน้ำตา เขาจะรู้สึกว่าเขาเป็นฮีโร่หรือไม่ หรือรู้สึกผิดหรือเปล่า แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นเขาจะทำอีกหรือไม่ ข้อศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า อาจขาดมุมมองญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นคนที่พวกคุณรอการให้อภัย

เส้นทางการปรองดอง ถ้าเป็นไปตามขั้่นตอนที่ตนระบุ คือคนทำผิดสำนึก ไม่ทำผิดอีก แม้อาจต้องใช้เวลา แต่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องได้รับการยอมรับจากสังคมทุกส่วน แต่วันนี้ดูเหมือนนิรโทษกรรมและการเยียวยากำลังเกิดขึ้น แต่ขั้นตอนค้นหาข้อเท็จจริงและกระบวนการยุติธรรมไม่คืบ ซึ่งวิธีนี้ไม่เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย ส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงในอนาคต ต่อไปรัฐบาลประกาศพรก.ฉุกเฉินใครจะฟัง เพราะไม่ได้ผลอะไรเลย ตรงกันข้าม คนทำรุนแรงได้รับการปล่อยตัว ได้เงินเยียวยา มันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีก มันไม่ยั่งยืน

นางนิชายังกล่าวว่า เพื่อสามีที่ตนรัก อยากสร้างบุญกุศลเพื่อให้สู่สุคติ มีความสงบสุขมากที่สุด แล้วไม่มีบุญกุศลใดจะยิ่งใหญ่กว่าการให้อภัย แต่สิ่งที่ทำอยู่ ทำเพื่อรักษาชีวิตของคนบริสุทธ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วยังต้องเผชิญกับความเสี่ยง ที่เราไม่มั่นใจได้เลยว่ามันอาจเกิดความรุนแรงได้อีก

รักสุดปลายฟ้า ตอนที่ 1-2
รักสุดปลายฟ้า ตอนที่ 1-2
รักสุดปลายฟ้า ตอนที่ 1 ออกอากาศวันพฤหัสบดีที่ที่ 22 มีนาคม เวลา 18.30 น. ทางช่อง 3 ทัตเทพ(นัฐฐพน) อดีตนักกีฬาทีมชาติอนาคตไกล แต่ประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ ทัตเทพประชดชีวิตด้วยการเที่ยวเสเพล แม้ คุณหญิงผอูน(ภัสสร) ผู้เป็นแม่จะพยายามเรียกชื่อเสียงกลับคืนมาด้วยการให้เป็นนายแบบโฆษณา ที่มี ม่านฟ้า หรือ แมซอน (พิมพ์มาดา) ครีเอทีฟมือหนึ่ง เป็นคนคิดงาน ทัตเทพกับม่านฟ้าก็เปิดฉากทะเลาะกันก่อนเริ่มงาน ไม่ว่าฟ้าจะโชว์ไอเดียเด็ดขนาดไหนทัตเทพก็ยังไม่พอใจ ม่านฟ้าแค้นทัตเทพมาก ขอถอนตัวจากงานนี้ แต่ถูก ธงชัย(สุเมธ) ขอให้ช่วยงาน ม่านฟ้าหาทางแก้เผ็ดทัตเทพ
กำลังโหลดความคิดเห็น