“สุริยะใส” ชี้แนวคิดปรองดองหลายสูตรในขณะนี้ ผิดทิศผิดทาง มุ่งแก้ปัญหาปลายเหตุเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่ถือหลักนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรมร่วมกัน วิพากษ์ข้อเสนอสถาบันพระปกเกล้า อาจตั้งโจทย์ผิด เน้นข้อสรุปมากกว่ากระบวนการเกินไป
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวว่า สูตรการปรองดองที่มีหลายฝ่ายเสนอแนะกันในขณะนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สังคมภาคส่วนต่างๆ เอาเป็นการปรองดองมาเป็นวาระถกเถียงและหาทางออกร่วมกัน แต่หากติดตามดูข้อเสนอจากหลายๆ สูตรแล้วก็น่าเป็นห่วง เพราะผิดทิศผิดทาง ออกนอกหลักการปรองดองที่ควรจะเป็น เพราะไปมุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเป็นปัญหาปลายเหตุมากเกินไป ไม่ได้ยึดหลักหรือวางน้ำหนักที่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่เกิดจากการทำลายหลักนิติรัฐและไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมหรือศาล จนทำให้สังคมแตกแยก เกิดความจริงและความเป็นธรรมหลายชุด หลายวาทกรรม ฝ่ายใครฝ่ายมัน ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่
“ถ้าคนที่คิดเรื่องปรองดองละเลย หรือไม่ถือหลักนิติรัฐ และถือคำพิพากษาของศาลร่วมกัน การปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาด อย่างมากก็แค่ฮั้วกันทางการเมือง ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะต้นเหตุของความขัดแย้งยังดำรงอยู่”
นายสุริยะใสกล่าวว่า ส่วนบทบาทของคณะกรรมาธิการปรองดองฯ ของสภาฯ ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน และเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ไม่ควรมานั่งเป็นประธานในกรรมาธิการคณะนี้ ทำให้สังคมเคลือบแคลงเจตนาได้ และที่มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าไปทำร่างข้อเสนอมานั้น มีจุดอ่อนตรงที่สัดส่วนกรรมาธิการฯ มาจากพรรคเพื่อไทยมากที่สุดจึงชี้นำกระบวนการทำงานของกรรมาธิการได้ และข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าเน้น “Out Put” หรือผลสรุปมากเกินไป ไม่ได้วางน้ำหนักที่กระบวนการ หรือ “Process” ที่ควรจะให้สังคมมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางทั้งผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงและประชาชนทั่วไป ถ้ากระบวนการออกแบบดีและมีความหลากหลายข้อเสนอที่ได้อาจมีทางเลือกที่ดีกว่านี้
และไม่ควรนำข้อเสนอหรือความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย อย่างการไปสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือแกนนำเสื้อแดง แล้วมาสังเคราะห์ร่วมกับความเห็นของส่วนอื่นๆ อาจจะทำให้ข้อสรุปไปตอบโจทย์ความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากไป ซึ่งต้องดูชุดคำถามในงานวิจัยชิ้นนี้ของสถาบันพระปกเกล้า เพราะบางทีคำถามอาจสำคัญกว่าคำตอบ หรือตั้งโจทย์ผิดก็อาจได้คำตอบที่ผิดไปด้วย