นายกฯ ขีดเส้น กบอ.แจงแผนใช้เงิน 2.4 หมื่นล้านรับมือน้ำท่วมภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมให้ ก.เกษตรฯ เร่งมือหา “แก้มลิง” ให้ได้ครบ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร เน้นจุดที่ท่วมอยู่เดิมไปก่อน กำชับ “แผนที่-สื่อสาร” ต้องชัด
วันนี้ (12 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องการจัดการโครงการเร่งด่วนที่ยังคงเป็นไปตามงบประมาณเดิม 24,828.82 ล้านบาทที่ กบอ.เสนอไว้ ทั้งนี้ได้มีการกำชับให้เร่งพิจารณา รวมทั้งแผนดำเนินงานที่ต้องรีบทำให้เสร็จใน 2 สัปดาห์นี้ และจะต้องนำกลับมาให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาอีกครั้ง
นายอานนท์กล่าวว่า ในส่วนของรับฟังความคิดเห็นกับชาวบ้านแต่ละพื้นที่รองรับน้ำนั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการมามากพอในระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ต้องดูรายละเอียดการดำเนินการระดับดับพื้นที่ที่ยังไม่สมบูรณ์ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ข้อมูลความสูงภูมิประเทศที่ยังไม่สมบูรณ์ ที่ยังทำให้การคำนวณเกี่ยวกับปริมาณน้ำคลาดเคลื่อน แต่โดยหลักการคือ การหาพื้นที่รองรับน้ำให้ได้ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ การกำหนดว่าพื้นที่ว่าอยู่ตรงไหนบ้าง ในเบื้องต้นก็คงต้องดูพื้นที่เดิมที่มีการท่วมอยู่แล้ว หรือน้ำทุกปีก็ท่วม
“เรื่องนี้ กบอ.ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาดู ที่สำคัญนายกฯ พูดถึงเรื่องข้อมูลและการทำแผนที่ต่างๆต้องให้มันเป็นเอกภาพ มีมาตรฐานในการที่จะพูดกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการเอาจีไอเอสเข้ามาใช้ ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการให้รีบไปดำเนินการ ให้ความสำคัญเรื่องการสื่อสารเป็นเอกภาพ ไม่ใช่นั้นประชาชนจะเกิดความสับสน พยายามทำความสับสนให้กระจ่าง อะไรที่ไม่ชัดเจนอย่ารีบร้อนออกไป” นายอานนท์กล่าว
นายอานนท์กล่าวต่อว่า เรื่องการขุดลอกคูคลองคงต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ให้ความสำคัญในด้านนี้ ที่ต้องดูว่าจะจุดอย่างไร และการตรวจสอบติดตามซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำในเรื่องของหลักการปฏิบัติ
สำหรับแนวคันกั้นน้ำรอบนอกที่มีกระแสว่ามีการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนกันนั้น นายอานนท์กล่าวว่า ตนไม่แน่ว่าที่ซ้ำซ้อนหมายความว่าอย่างไร เพราะเท่าที่ตนดูในที่เสนอเข้ามาตามกรอบยังไม่เห็นว่าซ้ำซ้อนตรงไหน ซึ่งตนดูในส่วนที่เข้ามาพิจารณางบประมาณในส่วนนี้ แต่ว่าในทางปฏิบัติแล้วหากมีการสร้างโดยหน่วยงานอื่น โดยใช้งบประมาณที่อยู่นอกกรอบที่เรารับผิดชอบก็ต้องประสานไปอีกที
อย่างไรก็ตาม นายอานนท์ระบุว่า เรื่องของระบบเตือนภัยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ดูแลอยู่ ทราบว่าล่าสุดมีการเสนอแผนเข้ามาแล้ว แต่เป็นการเสนอมาจากหลายหน่วยงาน ซึ่งต้องนำมาบูรณาการกันอีกที อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ไม่มีเรื่องของระบบเตือนภัยเข้ามาหารือในที่ประชุม แต่ว่าอาจพิจารณาในส่วนของ กบอ.เนื่องจากเรื่องบางเรื่องไม่ต้องนำขึ้นมาถึง กอนช.เพราะว่าสามารถพิจารณาได้เลยในระดับของ กบอ.
ทั้งนี้ เมื่อถามว่ามีการพิจารณาในเรื่องของฟลัดเวย์ หรือทางน้ำผ่านหรือไม่ นายอานนท์กล่าวว่า ฟลัดเวย์ยังไม่ใช่เรื่องที่เป็นประเด็น เพราะเป็นมาตรการที่เกิดขึ้นชั่วคราว ที่โดยหลักแล้วฟลัดเวย์ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ตนยกตัวอย่างเหมือนบันไดหนีไฟ เอาไว้ใช้ในกรณีที่เกินเหตุจริงๆ ที่ปกติเราจะใช้บันไดหรือลิฟต์ภายในอาคาร แต่เราจะไม่ใช้บันไดหนีไฟ