“ยิ่งลักษณ์” โชว์กึ๋นเรียกความเชื่อมั่นไทยกลับคืน กราดนิ้วสั่ง ก.ทรัพย์ไปดูแลปลูกป่า ก.เกษตรฯ จัดการผลผลิตเกษตรกรรม โยน “เพรียวพันธ์” สังคายนา ตม. กำชับกลมชลฯ รักษาระดับระบายน้ำในเขื่อน บี้ปลัดกระทรวงวางแผนงบฯปี 56 รับแผนกระตุ้น ศก.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27 ก.พ. นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องของการดำเนินงานโครงการต่างๆ เนื่องจากต้องการให้โครงการเสร็จภายใน 3 เดือน 6 เดือน เช่น การรักษาป่าต้นน้ำ โดยให้เร่งการปลูกป่าในบางจุดบางพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ เพราะบางจุดเข้าใจว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้เองจากติดสภาพอากาศที่แห้งแล้ง นายกฯ จึงให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลให้เรียบร้อย รวมถึงมาตรการการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า โดยจะให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมกับให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องภาคเอกชน บุคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม
ทั้งนี้ ในเรื่องของการรณรงค์เรื่องการปลูกป่า ทั้งไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน ซึ่งพื้นที่ไหนที่มีปัญหาเรื่องดินโคลนถล่มให้นำไม้เนื้อแข็งปลูกเพื่อเข้าไปช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง ซึ่งต้องมีการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าพื้นที่ตรงในควรปลูกไม้เนื้ออ่อน ไม่เนื้อแข็ง และไปดูในเรื่องของป่าเสื่อมโทรม ซึ่งแบ่งออกเป็นป่าเสื่อมโทรมที่สามารถฟื้นฟูได้เอง มีจำนวน 2.69 ล้านไร่ และป่าเสื่อมโทรมที่เข้าไปไปฟื้นฟูเอง มี 1.57 ล้านไร่ โดยต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะจะได้ทั้งในส่วนของงบประมาณและบุคลากร
นอกจากนี้ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของเกษตรกรรมเข้าไปควบคุมเรื่องผลผลิตในแต่ละพื้นที่ว่าพื้นที่ใดมีจุดเด่นผลผลิตชนิดใด รัฐบาลก็จะเข้าไปช่วยสนับสนุนให้เต็มที่เพื่อควบคุมผลผลิตเกษตรกรรมในอนาคต และให้เกิดการแข่งขันในแต่ละจังหวัด ขณะที่เรื่องของโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า เวลานี้มีเกษตรกรลงทะเบียนไว้แล้ว 3 ล้านคน และคาดว่าจะดำเนินการจัดทำบัตรเครดิตให้แล้วเสร็จทั้ง 3 ล้านคน ภายในปีนี้
นายภักดีหาญส์กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้กำชับเรื่องการระบายน้ำภายในเขื่อน โดยให้ระบายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งให้อยู่ในระดับ 45-55 ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทำการระบายน้ำบ้างแล้ว โดยเชื่อมโยงกับแม่น้ำต่างๆ อย่างเป็นระบบทั้ง 8 สายแล้ว นอกจากนี้ นายกฯ ยังกำชับให้ดูแลในเรื่องของหมอกควันที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะ เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศ ทำให้ฝนจะตกลงไม่ตามกำหนด
นอกจากนี้ นายกฯ กำชับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในงบประมาณปี 55 และ พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับ จำนวนเงิน 3.5 แสนล้าน ที่ผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังได้สั่งให้ปลัดกระทรวงวางแผนงบประมาณปี 56 และให้รีบส่งกลับ เพื่อจะได้ส่งผลในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ขณะนี้งบ 1.2 แสนล้าน ได้เริ่มดำเนินการใช้ในบางส่วนแล้วหลังจากลงพื้นที่ ทัวร์นกขมิ้น และ ครม.สัญจรจังหวัดอุดรธานี ซึ่งในส่วนในของงบที่ลงไปหากยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ให้เร่งดำเนินการและเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจรับงานอย่างสมบูรณ์
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า นายกฯ ระบุว่าวันนี้ทุกคนทั้งในและต่างประเทศต้องการความมั่นใจ ทั้งในเรื่องของการแก้ไขปัญหาน้ำและในเรื่องของความมั่นคง โดยส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้ไปดูเรื่องการให้บริการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เพื่อสะดวกในการขอรับความช่วยเหลือของนักท่องเที่ยว โดยมอบให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. โดยให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญทางด้านภาษา ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายนายกฯ ย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งกลับไปทบทวนและสรุปงานทั้งหมด เพื่อนำมาหารือกันอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน มีนาคม ขณะเดียวกันนายกฯได้ตั้งข้อสังเกต ใน 16 โครงการรัฐบาลที่ผ่านมติ ครม.แล้วมีความคืบหน้าอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของกองทุนตั้งตัวไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมได้อย่างไร เพราะไม่ตรงจุด ซึ่งนายกฯต้องการให้ดึงกลับมาอยู่ในการดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันทางปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานในที่ประชุมแล้วว่ากองทุนตั้งตัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการไปบ้างแล้วในบางส่วน
“ส่วนโครงการที่เหลือ 15 โครงการที่ผ่าน ครม.และผ่านการจัดสรรงบประมาณไปเรียบร้อยแล้วให้ไปทบทวนดูว่าอยู่ถูกจุดหรือไม่ เพื่อให้ดำเนินการรวดเร็วในการปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีคำตอบ เพราะถ้าไม่ทันจะมีปัญหา เช่น กองทุนตั้งตัว ต้องไปดูมา หากดำเนินการไม่ทันก็อยากให้ไปดูว่างบประมาณสามารถนำกลับมาที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการจัดการได้รวดเร็ว” นายกฯ ระบุในที่ประชุม