xs
xsm
sm
md
lg

เอแบคโพลล์ ปชช.ชูรัฐแกร่ง ห่วงปัญหาปากท้อง จี้รัฐเร่งแก้ของแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอแบคโพลล์ เผย ชาวบ้าน 76.4% ชู รัฐบาลแข็งแกร่งค่อนข้างมาก 46.8% ยก “ยิ่งลักษณ์” ผู้นำมากขึ้น 63.9% กังวลรัฐแก้ปากท้องมากกว่าแก้ รธน.61.8% รู้ข่าวรัฐแก้ปัญหาน้อย 73.9% จี้เร่งแก้ราคาสินค้าแพง

วันนี้ (11 มี.ค.) นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจความแข็งแกร่งมั่นคงของรัฐบาลในสายตาประชาชน และข้อเสนอต่อทางออกของปัญหารัฐบาล และเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่อง ชนชั้นผู้ต้องสงสัย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,181 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 ก.พ.-10 ม.ค.พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 ระบุรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังมีความแข็งแกร่งมั่นคงค่อนข้างมากถึงมากที่สุด โดยร้อยละ 46.8 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังมีความเป็นผู้นำมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 30.1 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 23.1 ระบุลดลง

ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อถามถึงความกังวลต่อเรื่อง 2 เรื่อง คือ กังวลต่อความขัดแย้งจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับความกังวลเรื่องปัญหาปากท้อง ราคาสินค้า ค่าครองชีพที่สูงขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.9 กังวลเรื่องปัญหาปากท้อง ราคาสินค้า ค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากกว่า ขณะที่ร้อยละ 24.0 กังวลเรื่องความขัดแย้งจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า

ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.8 รับรู้ต่อข่าวรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพของชาวบ้าน ค่อนข้างน้อยถึงไม่รับรู้รับทราบเลย ในขณะที่ ร้อยละ 38.2 รับรู้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการเร่งด่วนใน 5 อันดับแรก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.9 ต้องการให้แก้ปัญหาราคาสินค้า ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 68.5 ต้องการให้เร่งแก้ไขเรื่องที่ทำกิน การถือครองทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่อันดับที่สาม ร้อยละ 66.3 ระบุ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาชญากรรมและยาเสพติด อันดับที่สี่ ได้แก่ ร้อยละ 63.8 ระบุการแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม มลพิษหมอกควัน และดินโคลนถล่ม ส่วนอันดับที่ห้า ได้แก่ ร้อยละ 54.1 ระบุเป็นเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคม

อนึ่ง จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.1 เป็นชาย ร้อยละ 51.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 22.8 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 20.9 อายุระหว่าง 40-49 ปี และ ร้อยละ 28.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 76.7

กลุ่มตัวอย่างสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 23.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 34.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.6 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.8 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 4.7 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 1.1 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
กำลังโหลดความคิดเห็น