นายกฯ เรียกประชุมวางแนวทางจัดการลุ่มน้ำ 8 แห่ง น้อมนำกระแสพระราชดำรัสฟื้นฟูป่าไม้ แก้น้ำท่วมยั่งยืน ด้าน กยอ.ยันแผนฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม เริ่มเดินเครื่องผลิตแล้วกว่าร้อยละ 40 ชง ครม.สร้างเขื่อนป้องกันอุทกภัยซ้ำพรุ่งนี้
วันนี้ (27 ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนบริหาร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) วางแนวทางจัดการลุ่มน้ำ 8 แห่ง คือ ปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน และเจ้าพระยา ซึ่งมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการฟื้นฟูป่าไม้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน ประชุมผู้อำนวยการเขตกลุ่มกรุงธนใต้ ได้แก่ ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม บางขุนเทียน บางบอน ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ เพื่อรับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแต่ละพื้นที่ ซึ่งยังมีอุปสรรค โดยเฉพาะการประสานระหว่างหน่วยงานของ กทม. และหน่วยงานภาครัฐ โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอฝ่ายบริหาร ก่อนเชิญผู้แทนจากกรมชลประทาน ร่วมหารือถึงการทำงานร่วมกันต่อไป
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ.ที่มี นายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการฟื้นฟูโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งมีจำนวนโรงงานที่เริ่มกลับมาผลิตแล้ว กว่าร้อยละ 44 จากโรงงานทั้งหมด 838 โรงงาน ขณะที่โรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรม สามารถกลับมาผลิตได้แล้วกว่าร้อยละ 78 หรือ คิดเป็น 1,055 โรงงาน ซึ่งบางส่วนที่ยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้นั้น เนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างการซ่อมแซม และตรวจสอบสายการผลิตให้มีความเสถียร
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ หรือสัปดาห์หน้า พิจารณาเกณฑ์การช่วยเหลือทางการเงิน ในการสร้างเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำแก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม
ขณะที่ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรเและสหกรณ์ ว่าที่อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประธาน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตนเองพร้อมเดินหน้าปฏิบัติงานตามนโบายเร่งด่วนที่รัฐบาลมอบหมาย โดยเฉพาะการเร่งก่อสร้างคันกั้นน้ำ ขุดลอกคูคลอง ซ่อมแซ่มอุปกรณ์ในการบริหารจัดการน้ำ และการจัดหาพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิง ที่จะลงพื้นที่ดำเนินงานอย่างใกล้ชิด มั่นใจว่า จะบริหารงานได้เป็นอย่างดี