รักษาการโฆษกรัฐ เผย “เฉลิม” สับรัฐยุคประชาธิปัตย์ มัวทำอะไรอยู่ไม่เร่งแก้ พ.ร.บ.ฟอกเงิน 2 ฉบับเข้าสภา ทั้งที่อนุมัติตั้งแต่ปลายปี 53 ระบุที่ประชุม ครม.โยนกฤษฎีกาถก ปปง.ดูความจำเป็นต้องร่างกฎหมายใหม่หรือไม่ ส่ง “กิตติรัตน์” ดูผลกระทบ
วันนี้ (22 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกฯ รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ได้หยิบยกกรณีที่ทาง สำนักงานคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมถึงการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ขบวนการก่อการร้าย โดยบอกว่าเรื่องนี้เป็นการดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของปปง.ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย
นางฐิติมากล่าวด้วยว่า ความจริงแล้ว พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้แล้วซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาอีก 2 ครั้ง รวมถึงมีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ที่น่าสังเกตคือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ทางFATF ได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยกระดับการดูแลอย่างเข้มงวด ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรมในขณะนั้นได้ทำเรื่องเสนอครม.อนุมัติแนวปฏิบัติการเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.53 ซึ่งรวมถึงการดำเนินการยกร่างกฎหมายใหม่ คือ 1. พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.... และ 2. พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.... ดังนั้นต้องถามรัฐบาลที่ผ่านมาว่า ในช่วงเวลานั้นทำอะไรอยู่ เหตุใดจึงไม่เร่งชี้แจงแก้ไขหลักกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เข้าสภา ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่กลับปล่อยให้ทาง FATF มาลดอันดับ
รักษาการโฆษกฯ กล่าวว่า ครม.ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อพิจารณาในข้อกฎหมายว่ามีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องมีกฎหมายใหม่ เนื่องจากขณะนี้มีกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการก่อการร้ายอยู่หลายฉบับ และหากจะเป็นต้องมีกฎหมายจะต้องพิจารณาทั้งการให้ความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการคุ้มครองให้มีความเป็นธรรมแก่บุคคลที่จะถูกบังคับโดยกฎหมายที่จะกำหนดขึ้นใหม่ และได้มอบหมายให้นายกิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในเรื่องนี้