“ยิ่งลักษณ์” ประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ 2 ที่อุดรธานี จับตาทุ่มเงินพัฒนาอีสานฐานเสียงสำคัญ พท.ล็อตใหญ่ตามข้อเสนอเอกชนใช้งบฯ ลงทุน 6.2 แสนล้านบาท ด้าน กนข.ชงขอ 4.1 หมื่นล้านบาท สร้างทางรถไฟสายใหม่จากบ้านไผ่-นครพนม พร้อมดันซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียน ขณะเดียวกัน เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ขาดดุล 3 แสนล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.) ครั้งที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จ.อุดรธานี วันนี้ (22 ก.พ.) ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม วาระที่น่าจับตาคือ เม็ดเงินที่จะหว่านลงพื้นที่ภาคอีสานซึ่งถือเป็นฐานคะแนนเสียงที่ทำคัญของพรรคเพื่อไทยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยเชื่อว่าจะมีสารพัดโครงการถูกพลักดันให้ดำเนินการผ่านมติ ครม.
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการ จ.อุดรธานี ที่เตรียมนำเสนอ ครม.เบื้องต้น ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บและการระบายน้ำเขื่อนห้วยหลวง อ.เมือง งบ 572 ล้านบาท โครงการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวคำชะโนด อ.บ้านดุง งบ 1,024 ล้านบาท ปรับปรุงท่าอากาศยานจังหวัดอุดรธานีหลังเดิมและเชื่อมต่อกับหลังใหม่ 275 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติ
ส่วนโครงการล็อตใหญ่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประชุมร่วมกับคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) เมื่อเย็นวานนี้ เอกชนเสนอโครงการลงทุนในภาคอีสานเป็นวงเงินรวม 6.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 5 โครงการ คือ 1. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบลอจิสติกส์ เช่น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย 1.4-1.5 แสนล้านบาท 2. โครงการส่งเสริมด้านการค้าและการลงทุน 3. การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรลุ่มแม่น้ำโขง-เลย-ชีมูล วงเงิน 2 แสนล้านบาท 4. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง 5. การพัฒนาทรัพยากรบุคคล เช่น การจัดตั้งมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคมเสนอ ครม.พิจารณาโครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 336 กม. วงเงิน 41,363 ล้านบาท ช่วยให้โครงข่ายรถไฟครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานมีมากขึ้น จากเดิมมีเส้นทางรถไฟเฉพาะภาคอีสานตอนใต้ ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี และตอนบน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เท่านั้น
กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบนจะเสนอ ของบประมาณจัดทำโครงการต่างๆ กว่า 2.8 หมื่นล้านบาท
ส่วนวาระที่น่าสนใจ คือ การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 กรอบวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะจัดเก็บรายได้รวม 2.1 ล้านล้านบาท และกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 300,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีวาระ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.มหาดไทย จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบการเปิดตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (บริหารสูง) เพื่อทดแทนตำแหน่งของนายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้ และให้ไปเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
“มีรายงานว่า อัตราที่ขอไปดังกล่าวจะให้รองปลัดฯดังกล่าวรับผิดชอบงานการบริหารราชการในหน้าที่หลักคือแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพล (ก.พ.) ให้เปิดตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทยไปแล้วหลายเดือน แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการอนุมัติจาก ก.พ. ปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอ รมว.มหาดไทย เพื่อนำเสนอ ครม.” แหล่งข่าวกล่าว
คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 4 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานจะเสนอให้นำเงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาเพิ่มค่าอ้อยอัตราตันอ้อยละ 154 บาท และให้จ่ายตรงให้กับชาวไร่อ้อยทุกตันอ้อย ที่ส่งเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลทรายฤดูกาลผลิตปี 54/55 ทั้งเห็นชอบให้คงการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศอีกกิโลกรัม (กก.) ละ 5 บาท ตามมติ ครม.วันที่ 29 เมษายน51 และให้นำเงินจากส่วนที่ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย มาเป็นรายได้ของกองทุนฯ ในการชำระหนี้เงินกู้เพื่อเพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย
สำนักงบประมาณจะเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 เบื้องต้นไว้ที่ 2.45 ล้านล้านบาท โดยกำหนดจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมปี 2555 ที่ระดับ 8% (รวมอัตราเงินเฟ้อ)
กระทรวงศึกษาธิการเตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) แบบรัฐต่อรัฐ โดยมอบให้ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศที่รมว.ต่างประเทศ แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้นักเรียนได้ใช้แท็บเล็ตในเดือน พ.ค.นี้ โดยเป็นแท็บเล็ตที่มีมาตรฐานเดียวกัน และจัดซื้อด้วยระบบรัฐต่อรัฐเป็นคู่สัญญา รัฐบาลประเทศนั้นมีความรับผิดชอบที่จะกำกับให้บริษัทผู้ผลิตที่รัฐนั้นมอบหมาย ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐานตามข้อกำหนดของรัฐคู่สัญญา
ขณะเดียวกันจะขอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นผู้ดำเนินการจัดหาแท็บเล็ต จัดวางระบบเครือข่าย Wi-Fi และจัดทำระบบบริหารจัดการที่เกี่ยวกับโครงการ เนื่องจากมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านเครือข่ายและวางระบบความปลอดภัยในการใช้แท็บเล็ตให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากร และการสร้างความเข้าใจ
กระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณทั้งประเทศที่ได้รับการจัดสรรตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 เพื่อดำเนินการโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ต 1,937,632,400 บาท แบ่งเป็นกระทรวงศึกษาธิการ 1,623,711,400 บาท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 17,000,000 บาท กรุงเทพมหานคร 137,700,000 บาท เมืองพัทยา 4,799,600 บาท โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,121,400 บาท เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวไปจัดซื้อแท็บเล็ตให้ครบตามจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2555