โฆษก ปชป.ระบุ “เศรษฐา” บิ๊กอสังหาริมทรัพย์แสนสิริกรุ๊ป ยอมรับพบนายกฯพร้อมนักธุรกิจ 6-7 คนที่โฟร์ซีซั่นส์ ตอกย้ำ “ปู” พูดโกหกที่เคยบอกว่าไม่ได้ไปประชุมกับใคร สะท้อนถึงปัญหาด้านจริยธรรม ขาดคุณสมบัติเป็นผู้นำประเทศ พร้อมชี้ “ยิ่งลักษณ์” ขาดจิตสำนึกการเป็นนักการเมืองที่ดี 5 ข้อ
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหารแสนสิริกรุ๊ป ออกมายอมรับว่าพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อสาธารณชน และใช้กลไกรัฐสภาในการตรวจสอบด้วยการตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่การกลั่นแกล้งนายกรัฐมนตรีหญิง หรือเป็นเกมการเมืองแต่อย่างใด
นายชวนนท์กล่าวว่า จากคำพูดของนายเศรษฐา ที่ระบุว่าได้พบกับนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการเข้าพบกัน 6-7 คนนั้น ยิ่งทำให้เกิดคำถามมากขึ้นว่า ถ้านายเศรษฐาพูดความจริง ก็แสดงว่านายกรัฐมนตรีโกหกประชาชน เนื่องจากหลังเกิดเหตุ ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรีว่าไปประชุมที่ชั้น 7 กับนักธุรกิจ 7-9 คน แต่นายกรัฐมนตรีกลับให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ไมได้ประชุมเป็นนายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์ที่จะพบกับใครก็ได้
“คำถามของผม คือ ถ้านายกฯ ไม่ได้ทำอะไรเสียหายทั้งในทางส่วนตัวและส่วนรวม ทำไมการชี้แจงแต่ละครั้งจึงไม่ตรงกัน และเหตุใดจึงไม่ชี้แจงให้สังคมเกิดความกระจ่างตั้งแต่แรก จนกระทั่งถูกตรวจสอบอย่างหนักจึงทำให้ผู้เกี่ยวข้องเปิดปากยอมรับในที่สุด”
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า พฤติกรรมลับๆ ล่อๆ ของคนเป็นผู้นำประเทศ สะท้อนถึงปัญหาด้านจริยธรรม และการขาดคุณสมบัติที่ดีในการเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งหากเป็นในต่างประเทศมีเหตุการณ์ลักษณะนี้คนเป็นนายกฯ ต้องลาออกจากตำแหน่งแล้ว ล่าสุดประธานาธิบดีเยอรมนีก็แสดงความรับผิดชอบกรณีที่เคยรับสินบนด้วยการลาออกจากตำแหน่ง การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์พบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบลับเฉพาะ ในช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ด้านที่ดิน ทำให้คนไทยไม่สามารถไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะผู้นำที่ดีต้องมีความซื่อสัตย์ต่อประชาชนทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่างบประมาณ 6 หมื่นล้านที่รัฐบาลเตรียมไว้สำหรับทำโครงการฟลัดเวย์ จะไม่ตกหล่นอยู่ที่โฟร์ซีซั่น
นายชวนนท์กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ขาดสำนึกความเป็นนักการเมืองที่ดี 5 ข้อ คือ 1. ใช้เวลาราชการไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัวกับนักธุรกิจที่เป็นพรรคพวกของตัวเอง แสดงให้เห็นว่าไม่มีวุฒิภาวะที่จะตระหนักว่าเป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศไม่พึงกระทำ 2. การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่าเป็นนายกฯ จะไปพบกับใครก็ได้นั้น ยิ่งแสดงให้เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะคนเป็นผู้นำประเทศจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน
3. นายกรัฐมนตรีไม่เคารพกลไกการตรวจสอบของรัฐสภา นอกจากมีพฤติกรรมหนีสภามาโดยตลอดแล้ว ความไม่พร้อมที่จะถูกตรวจสอบของนายกรัฐมนตรียังกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้การทำงานในสภาไม่ราบรื่นถึงขั้นดำเนินต่อไปไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสภาจนอาจเสียหายต่อระบบด้วย 4. นายกรัฐมนตรีขาดภาวะความเป็นผู้นำที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา แต่กลับส่งลิ่วล้อออกมาปกป้องใส่ร้ายคนอื่น ในขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบอยู่ใต้กระโปรงตัวเอง ซึ่งไม่ใช่วิสัยของผู้นำพึงกระทำ และ 5. ขาดความซื่อสัตย์ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ไร้มาตรฐานทางจริยธรรม