xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.สิ่งแวดล้อมฯ ติงฟลัดเวย์อาจต้องทำอีไอเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธาน กมธ.สิ่งแวดล้อมสภาฯ ระบุโครงการทำฟลัดเวย์ อาจเข้าข่ายขัด รธน. อาจต้องทำ อีไอเอ เพราะกระทบต่อชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในอนาคต ชี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบหากดันทุรังทำแล้วขัด รธน.

วันนี้ (17 ก.พ.) นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถึงกรณี การทำฟลัดเวย์ของรัฐบาลเพื่อป้องกันอุทกภัยว่า อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 เพราะโครงการดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในอนาคต ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว จึงพบปัญหา 2 ประการ คือ

1. ขณะนี้ยังไม่ได้มีองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ด้วยเหตุที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ยืนยันจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาทำให้ พ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่เสนอโดยรัฐบาลก่อน โดยผ่านสภาผู้แทนแล้วทั้ง 3 วาระ และอยู่ในขั้นการพิจารณาของ กมธ.วุฒิสภา ซึ่งคาดกันว่าจะเสร็จสิ้นโดยเร็ว แต่การไม่ยืนยันของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ต้องตกไปและไปนับหนึ่งใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาอีกยาว ทั้งๆ ที่คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายชุด ศ.คณิต ณ.นคร เป็นประธาน ก็ให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรรับรองกฎหมายฉบับนี้เพราะเป็นประโยชน์และเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาล

2. สำหรับโครงการฟลัดเวย์ดังกล่าวในความเห็นน่าจะต้องอีไอเอ เพราะตามประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้กิจกรรมที่ต้องทำอีไอเอ โดยเทียบเคียงกับโครงการ เขื่อนกักเก็บน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำ ที่ต้องทำอีไอเอ คือเป็นโครงการที่มีปริมาตรเก็บกักน้ำ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่โครงการ 15 ตารางกิโลเมตร หรือเปรียบเทียบกับโครงการชลประทานต้องมีพื้นที่ชลประทาน 80,000 ไร่ขึ่นไป ฉะนั้น โครงการฟลัดเวย์ดังกล่าวนี้ใหญ่กว่าโครงการอ่างเก็บน้ำและชลประทานที่กำหนดให้ต้องทำเอไอเอหลายเท่า จึงน่าจะต้องทำอีไอเอ ส่วนแก้มลิงที่ขุดลอกจากห้วย หนอง คลอง บึง เดิมอาจจะไม่ต้องทำอีไอเอ

แต่หากรัฐบาลไม่เชื่อคำท้วงติงนี้ และดำเนินการโดยไม่ต้องทำอีไอเอ ก็เป็นสิทธิของรัฐบาล แต่ต้องรับผิดชอบหากกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่ควรให้ความหวังที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ปลูกป่า และหญ้าแฝกให้เสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งแค่ขั้นตอนแรก คือเพาะชำกล้าไม้ก็ต้องใช้เวลา ร่วม 1 ปี และหญ้าแฝกต้องใช้ประมาณ 4 เดือน จึงจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น