“ยิ่งลักษณ์” นั่งหัวโต๊ะ ครม. พิจารณาออกระเบียบการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ ตามข้อเสนอของ กยน. พร้อมเสนอจัดตั้งองค์การบริหารจัดการน้ำเข้าดำเนินการ ขณะเดียวกันเตรียมความพร้อม “ทัวร์นกแก้ว” ดูแผนแก้น้ำท่วมรายจังหวัด ด้านกระทรวงต่างประเทศ เสนอแผนรณรงค์หาเสียงเป็นเจ้าภาพเวิลด์เอกซ์โปร 2020
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (7 ก.พ.) ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะพิจารณาร่างระเบียบว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้พิจารณาแผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเสนอ
โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้มีองค์กรหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในสถานะศูนย์กลางการบริหารจัดการน้ำ และเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยทั้งระบบ เพื่อให้การกำหนดแนวทางการทำงาน การสั่งการ และการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีความสอดคล้องในการอำนวยการและบริหารจัดการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง นำไปปฏิบัติในทุกพื้นที่และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ทั้งนี้ การจัดตั้งองค์กรฯ จะประกอบด้วยคณะกรรมการ สำนักงาน และการกำหนดวิธีการบริหารงาน ทำให้มีความคล่องตัวและการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับระเบียบดังกล่าวเป็นการออกมาเพื่อรองรับการทำงานในการแก้ไขปัญหาน้ำและให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งองค์การบริหารจัดการน้ำ
นอกจากนี้ ครม.จะพิจารณาการเตรียมความพร้อม “ทัวร์นกแก้ว” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่าง วันที่ 13-17 ก.พ. หลังจากที่ได้มอบให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณา เบื้องต้นได้มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละคนลงพื้นที่รายจังหวัดเพื่อดำเนินงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย หลังประชุมเสร็จคงจะได้เห็นรายละเอียดชัดเจนว่าแผนการตรวจเยี่ยมพื้นที่และการป้องกันน้ำท่วมจะออกมาหน้าตาอย่างไร
ขณะเดียวกัน ต้องจับตมดูที่ประชุม ครม.จะพิจารณาโครงการฟื้นฟูและเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยด้านการเกษตรจำนวนทั้งสิ้น 12 โครงการ วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทหรือไม่ หลังจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ตั้งแต่กลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดย 1 ใน 12 โครงการที่น่าสนใจ คือ การของบประมาณเพื่อจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวช่วยเหลือเกษตรกรรายละ 10 กิโลกรัมต่อไร่ รายละไม่เกิน 10 ไร่ วงเงิน 1,000 ล้านบาทโดยก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯ ต้องใช้งบประมาณของกรมการข้าวไปก่อนเพราะเกษตรกรเร่งปลูกข้าวหนีน้ำ
ด้านกระทรวงการต่างประเทศจะเสนอแผนการรณรงค์การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลกเวิลด์เอกซ์โป 2020 โดยให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการรณรงค์หาเสียงและจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงระดับชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการในการหาเสียง ตลอดจนเป็นกลไกกลางในการประสานงานตลอดระยะเวลาเวลาการรณรงค์หาเสียง และเสนอให้การเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลกเวิลด์เอกซ์โป 2020 เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลกเวิลด์เอกซ์โป 2020 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พ.ค.54 ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานฯ อย่างเป็นทางการแล้ว 5 ประเทศ ได้แก่ ไทยเสนอ จ.พระนครศรีอยุธยา ประเทศตุรกี เสนอเมืองอิชเมียร์ สหพันธรัฐรัสเซีย เสนอเมืองเยคาเตรินเบิร์ก ประเทศบราซิล เสนอเมืองเซาเปาโล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสนอเมืองดูไบ โดยจะมีการลงคะแนนเสียงในช่วงปลายปี 2556
สำหรับในการจัดงานครั้งนี้ประเทศไทยเสนอแนวคิดหลักสำหรับการจัดงานฯครั้งนี้คือ “แนวคิดใหม่ของโลกาภิวัตน์-วิถีที่ยั่งยืน เพื่อโลกที่สมดุล” ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการทบทวนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืนให้แก่สังคม
ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมเสนอการลงนามบันทึกความตกลงสำหรับโครงการความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ The Korea Project on International Agriculture (KOPIA) ในราชอาณาจักรไทย สำหรับบันทึกความตกลงฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ที่ครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านเทคนิคงบประมาณและวัสดุ-อุปกรณ์ในการดำเนินงานศูนย์ KOPIA-THAILAND ในราชอาณาจักรไทย ที่จะจัดตั้งขึ้นในราชอาณาจักรไทยโดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินกิจกรรมในการคิดค้น วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีความสนใจร่วมกัน