“เจริญ” ยัน สภาฯ ต้องอภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ฯเสร็จไม่เกิน 3 ทุ่ม ไล่บี้ “ยิ่งลักษณ์” เข้าฟังการประชุมสภาฯ ชี้ ม.112 ตัวกฎหมายไม่มีปัญหา คนที่มีอำนาจนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่สน ส.ส.พท.บางคนหนุนแก้
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่น พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสาธารณะการเงิน พ.ศ...และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 (วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท) ที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ในวันนี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะยื่นเรื่องดังกล่าวให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตามกฎหมายระบุชัดเจนว่าต้องส่งภายใน 3 วันนับจากวันที่มีการยื่นหนังสือ
สำหรับประชุมสภาฯ ในวันนี้ (1 ก.พ.) จะมีการพิจารณา พ.ร.ก.เพียง 2 ฉบับเท่านั้น คือ พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัย พ.ศ.... และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศ พ.ศ.... เพราะอีก 2 ฉบับต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนว่าจะขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ขัดแย้งก็จะต้องเสนอกลับมาให้สภาฯพิจารณาใหม่
นายเจริญ กล่าวว่า การประชุมสภาฯจะแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่าจะมีการยื่นเข้าสภา 4 ฉบับ และยังค้างพิจารณา 2 ฉบับเท่านั้น ขณะเดียวกัน จะมีการถ่ายทอดสดจนจบการพิจารณา พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ในเวลา 21.00 น.ด้วย ซึ่งหากพิจารณาตามเนื้อหาสาระคงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ชั่วโมง
“แต่ขณะนี้มีดาวสภาต้องปะทะกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ช้า ดาวสภากำลังฝึกฝนวิทยายุทธ์กันอยู่ โดยหากจะปรึกษาฝ่ายรัฐบาล ก็จะมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ส่วนฝ่ายค้าน ก็จะมี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ผมบอกทั้งฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลแล้วว่าต้องจบในวันนี้ ไม่เกิน 21.00 น.ไม่เช่นนั้นจะไม่ถ่ายทอดสดให้ ซึ่งทางรัฐสภาได้แจ้งไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เข้ารับฟังการประชุมสภาในครั้งนี้ด้วย”
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทย มีมติคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ก่อนหน้านี้ มี ส.ส.ของพรรค บางคนขึ้นเวทีปราศรัยกลุ่มคนเสื้อแดง โดยมีท่าทีสนับสนุนการแก้ไข มาตรา 112 นั้น นายเจริญ กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในระบบการเมืองต้องมีมติ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ความเห็นส่วนตัวจะเห็นด้วยกับการแก้ไข แต่ในระบบพรรคการเมืองที่ต้องเสนอในระบบพรรค เมื่อพรรคมีมติไม่เสนอแก้ไข ก็ต้องปฏิบัติตามมติพรรค
“ตัวของกฎหมาย ตัวเนื้อหาไม่มีปัญหา ผมก็เป็นนักกฎหมาย แต่จะมีปัญหาอยู่ที่คนที่มีอำนาจนำไปใช้เป็นอาวุธทำลายอีกฝั่งหนึ่ง เกิดความขัดแย้งทางการเมือง แย่งชิงอำนาจทางการเมืองขึ้นมา การทำลายอีกฝั่งหนึ่ง จะใช้กฎหมายเป็นมาตรการทำลายล้างอีกฝั่งหนึ่ง ก็ไม่รวดเร็วเท่ากับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการที่นักวิชาการนิติราษฎร์ยังเดินหน้า แม้สังคมจะต่อต้านก็เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าถามคนที่ใช้กฎหมายอย่างผม ที่เคยเป็นทนายความการใช้กฎหมายนี้ไม่มีปัญหา” นายเจริญ กล่าว
นายเจริญ กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนฯ ไม่รับฟังความคิดเห็นของกรรมาธิการ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอาจจะทำให้กมธ.ดังกล่าวล่มได้ว่า ตนเชื่อว่าจะไม่ล่ม โดยคณะกรรมาธิการต้องประชุมกันให้เสร็จก่อนที่จะเสนอข้อสรุปเข้าสู่สภา ซึ่งสภาจะเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งคณะกรรมาธิการจะเสนอแนวความคิดอย่างไรก็ตามสภาต้องมีมติว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และหากเห็นด้วย ก็จะมอบให้รัฐบาลไปดำเนินการ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นข้อสรุปว่าให้ดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ สภาฯ ก็ได้เร่งรัดไปยังคณะกรรมาธิการฯแล้ว เพราะตามกำหนดการเดิมในขณะนี้ต้องเสนอข้อสรุปต่อสภาแล้ว ซึ่งตนยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้ระยะเวลาอีกเท่าไหร่