xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอด” ป้อง กยน.เทงบตั้งคลังข้อมูลน้ำ แต่ไม่รับปากน้ำท่วมรอบ 2 หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลอดประสพ สุรัสวดี
รมว.วิทย์ ไม่รับปากน้ำจะท่วมรอบสองหรือไม่ ป้อง กยน.มีแผนบูรณาการน้ำพร้อมอนุมัติ 6 โครงการรับมือระยะสั้นแล้ว มั่นใจแจ้งเตือนภัยพิบัติทันแน่ โวเทงบ 3 พันล้านสร้างคลังข้อมูลน้ำทั้งระบบ พร้อมติดซีซีทีวีประตูระบายน้ำทุกจุด โยน มท.แจงชาวบ้านพื้นที่ฟลัดเวย์

วันนี้ (31 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ว่า อยากให้ประชาชนมั่นใจว่าหลังจากการทำงานของ กยน.ก่อนที่ฤดูฝนจะมา ประชาชนจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นข้อมูลจากทางเดียว และหากเกิดภัยพิบัติต่างๆ ประชาชนจะได้รับข้อมูลเตือนภัยที่ทันเวลาและทั่วถึง อีกทั้งหน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะไม่สับสนว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติหน่วยงานใดต้องรับผิดชอบบ้างเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงต่อกัน

“กรรมการ กยน.ลาออกไม่ได้ ถ้าลาออกก็ต้องลาออกจากความเป็นเพื่อนผมด้วย เพราะคบกันมากว่า40 ปี และที่ผ่านมา มีหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผมมองว่าเป็นข้อแนะนำที่ดี และผู้แนะนำส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น และแผนรับมือน้ำของรัฐบาลจับต้องได้” นายปลอดประสพ กล่าว

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ก็ตาม แต่ทาง กยน.ได้อนุมัติ 6 โครงการในการรับมือน้ำท่วมที่เป็นแผนระยะสั้น สำหรับงานที่รับผิดชอบ คือ การจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ และการปรับปรุงระบบเตือนภัยแห่งชาติ ในการดำเนินการ การเตือนภัย และการพยากรณ์ ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว 3,164 ล้านบาท จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 7 พันล้านบาท สำหรับงบประมาณที่เหลือจะเร่งดำเนินโครงการให้ออกมาเป็นผลงานให้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ โครงการจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ มีหน้าที่ดูแล 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การติดตั้งโทรมาตร หรือไฮโดรมิเตอร์ในลำน้ำและประตูน้ำที่สำคัญ เพื่อวัดระดับน้ำ 2.การวัดกระแสน้ำ 3.การติดตั้งเรดาร์ชายฝั่ง เพื่อวัดระดับคลื่นลมทะเล และ 4.การสำรวจระดับแม่น้ำและตลิ่ง เพื่อติดตามข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบัน

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า ในการจัดทำคลังข้อมูลดาวเทียม จะแบ่งเป็นข้อมูลภาคพื้นดิน และระบบการผลิตข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน หน่วยราชการและสื่อมวลชนอย่างบูรณาการ และที่สำคัญในการติดตามการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ ประกอบด้วย การติดตั้งกล้องซีซีทีวีตามประตูน้ำที่สำคัญ และการดำเนินการสร้างประตูน้ำอัตโนมัติ โดยจะทดลองใน 20 ประตูก่อน หากได้ผลจะทำทุกประตูระบายน้ำ ดังนั้น เมื่อมีระบบประตูอัตโนมัติจะแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือลดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับภาครัฐ หรือแม้แต่รัฐบาลกับ กทม.ด้วย

นายปลอดประสพ ระบุด้วยว่า ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำ จะประกอบด้วย การเชื่อมข้อมูลหน่วยราชการทั้งหมด การสร้างห้องควบคุมเพื่อให้ข้อมูล การสร้างแบบจำลองวิเคราะห์สถานการณ์ การตั้งหน่วยเคลื่อนที่ที่มีอุปกรณ์ไปในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อให้เกิดความแม่นยำ และเปิดศูนย์บริการข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม รวมถึงการจัดทำระดับความสูงต่ำของพื้นที่น้ำท่วมของประเทศไทยทั้งหมด โดยใช้ระบบเครื่องบินและดาวเทียม นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงระบบเตือนภัยแห่งชาติ จะแบ่งเป็น 5 เรื่อง คือ 1.การเชื่อมระบบข้อมูลทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 2.การจัดทำระบบสมาร์ทโฟนเตือนภัย 3.การกระจายข่าวที่เชื่อมต่อกับโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต 4.ระบบภาพถ่ายจีไอเอส และ 5.การแจ้งเตือนโดยระบบคอลเซนเตอร์

“แผนทั้งหมดรัฐบาลจะต้องไปปฏิบัติตามที่อนุมัติแล้ว ซึ่งแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.55 เพื่อให้ประชาชนได้สบายใจว่าจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันหน่วยราชการจะปฏิบัติงานตามแผนโดยเกิดปัญหาความซ้ำซ้อนกัน ที่สำคัญ อยากฝากไปยังเพื่อนๆ ในคณะกรรมการ กยน.ได้รับทราบว่า รัฐบาลมีแผนงาน โอกาสนี้ต้องขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ก็หวังว่า เพื่อนๆ ทุกคนจะได้ช่วยงานกันเต็มที่ เพราะเราแก่แล้วบ่นคนละนิดละหน่อยไม่เป็นไร บ่นไปทำงานไปประชาชนจะได้ปลอดภัย และหวังว่าจะสบายใจขึ้น” นายปลอดประสพ กล่าว

นายปลอดประสพ ยังกล่าวอีกว่า ในการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วม ทางภาครัฐมีแผนป้องกันน้ำเฉพาะหน้า คือ 1.พยายามจะพร่องน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อป้องกันจำนวนฝนที่มากที่เกิดจากสาเหตุสำคัญ ดังนี้คือ ปรากฏการณ์ลานีญา ปรากฏการณ์โลกร้อนที่ทำให้เกิดฝนตกและพายุแปรปรวน รวมถึงปริมาณในเขื่อนและอ่างกักเก็บน้ำในปีนี้ยังสูงอยู่ ในทางกลับกลันจะต้องทำให้เขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำเป็นที่เก็บน้ำเพื่อทำหน้าที่ป้องกันอุทกภัยด้วย นอกจากนี้ ยังการเร่งรัดการขุดลอกคูคลอง การซ่อมแซมประตูระบายน้ำที่ทำหน้าที่ส่งน้ำและทำหน้าที่ระบายน้ำด้วย และทางรัฐบาลกำลังเร่งป้องกันจุดเสี่ยงที่สำคัญ เช่น นิคมอุตสาหกรรมด้วย

นายปลอดประสพ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของนโยบายฟลัดเวย์ (Flad way) ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่า แนวฟลัดเวย์ มี 2 แบบ คือ การทำฟลัดเวย์หรือทางน้ำผ่าน หมายถึงทุ่งนา สวน ลำคลอง และถนน ซึ่งการบริหารจัดการน้ำ คือ หากเกิดน้ำท่วมย่อมไหลผ่านไปในที่เรือก สวน ไร่ นา ดังนั้น รัฐบาลจะเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่าทางภาครัฐพร้อมรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยการจ่ายเงินชดเชยโดยกระทรวงมหาดไทยเข้าไปความเข้าใจอยู่ในขณะนี้ สำหรับนโยบายฟลัดไดเวอชั่น (Flad divert ion) คือ แนวเหวี่ยงน้ำ หรือ แนวเบี่ยงน้ำ ซึ่งในการบริหาร คือ การทอนปริมาณน้ำให้น้อยลงและไหลช้าๆ กล่าวคือ การเบี่ยงน้ำให้ออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ล้นตลิ่งให้น้อยลง หรือเท่าที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะพอรับได้

“แนวฟลัดเวย์คือที่ลุ่มแม่น้ำ ลำคลอง ทั้งหลายตั้งแต่ จ.ชัยนาท ลงมา ในพื้นที่ประมาณ 24,000 ตารางกิโลเมตร จะเป็นฟลัดเวย์ด้วย แก้มลิงด้วย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะเป็นเจ้าของเรื่อง โดยการไปบอกเจ้าของสถานที่ว่าพื้นที่ที่อยู่ในแนวฟลัดเวย์ และควรจะทำการเกษตรเมื่อใด เลิกทำเมื่อใด และหากท่วมจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร” นายปลอดประสพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น