ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว แฉ “ทักษิณ” มีแผนหาผลประโยชน์จากแหล่งพลังงาน หวังใช้กลุ่มทุนยึด ปตท.ฟันกำไร ลั่นทวงคืน ปตท.ให้เป็นของรัฐเต็มรูปแบบ จี้เปิดต้นทุน-แหล่งสัมปทานต่อสาธารณะ พร้อมเปิด 10 แบล็กลิสต์เมกะโปรเจกต์ ส่อทำลายหลักธรรมาภิบาล ด้าน “จาตุรันต์” จี้ผู้ตรวจฯ ขอทำหน้าที่สอบ 2 จริยธรรม รมต.สายล่อฟ้า “นลินี-ณัฐวุฒิ”
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่โรงแรมจันทรเกษม ปาร์ค นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว (Green Politics) ได้กล่าวถึงนโยบายราคาพลังงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า จากข้อมูลที่ทางกลุ่มกรีน ศึกษาพบว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นประเทศที่ส่งออกได้มากกว่าผลิตผลอื่นอย่างข้าวหรือยางพารา ด้วยซ้ำ แต่เหตุใดคนไทยถึงต้องใช้น้ำมันแพง ที่สำคัญ อยากให้จับตาบทบาทของกลุ่มทุนพลังงานที่โยงกับกลุ่มธุรกิจการเมือง โดยวันนี้บทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ย้ายฐานการทำธุรกิจจากโทรคมนาคม มาลงทุนทางพลังงาน
“ที่น่าเป็นห่วง คือ มีความเป็นไปได้ที่ทุนพลังงานภายใต้ทักษิณคอนเนกชัน จะใช้ ปตท.ที่เป็นองค์กรซึ่งมีอำนาจผูกขาดเป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไร และผลประโยชน์ทางด้านพลังงาน ทางกลุ่มจึงยืนยันคัดค้านการแปรรูป ปตท.และจะทวงคืนหุ้นที่กระจายไปกลับมาเป็นของรัฐ ให้ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปแบบ เพราะพลังงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคง จะปล่อยให้ตกไปเป็นของเอกชนไม่ได้” นายสุริยะใส ระบุ
ด้าน นายทศพล แก้วทิมา คณะทำงานกลุ่มการเมืองสีเขียว (Green Politics) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามสถานการณ์ต่อพลังงานของโลก พบว่า ประเทศใหญ่ๆ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือจีนได้เริ่มมีความตระหนักและวางนโยบายเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ดังนั้น สังคมไทยต้องตื่นตัวในเรื่องของทรัพยากรชาติมากกว่าที่ผ่านมา เพื่อเฝ้าระวังสมบัติของชาติเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้คนไทยไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริงว่า เรามีทรัพยากรอยู่เท่าไร และให้ต่างชาติรับสัมปทานไปมากเท่าไรแล้ว
“รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ข้อหนึ่งว่า จะส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่การดำเนินงานของรัฐบาลกลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง เพราะแทนที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยการสะสมไว้ในประเทศ แต่รัฐบาลให้สัมปทานกับบริษัทต่างชาติ รวมทั้ง ปตท.ที่ขณะนี้มีการไขว้หุ้นกับบริษัทต่างชาติบางบริษัท” นายทศพล ระบุ
นายทศพล ยังได้นำข้อมูลเกี่ยวกับราคาพลังงานมาแสดงต่อสื่อมวลชน พร้อมกล่าวว่า พอรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้ามาทำงาน ได้มีการลดราคาน้ำมันลงประมาณ 8 บาท เพราะได้มีการยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ท้ายที่สุดวันนี้ปรากฏว่า ราคาน้ำมันแพงกว่าเดิม กลายเป็นข้อสงสัยที่ว่าราคาน้ำมัน และก๊าซ กับต้นทุนที่แท้จริงเป็นเช่นไรกันแน่ จนมีการฟ้องร้องกันในหลายกรณี แต่รัฐบาลก็ยังไม่ทำให้เรื่องนี้มีความกระจ่าง ทั้งที่ควรนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่า มีการอ้างอิงต้นทุนราคาแท้จริงที่เท่าไร เรื่องเหล่านี้ต้องนำมาเปิดเผย เพราะเป็นทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ แม้ว่าข้อมูลของรัฐบาล ภาคประชาชน หรือภาคธุรกิจจะมีความแตกต่างกันก็ตาม ก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการทำให้ข้อมูลเป็นที่ประจักษ์ในสังคม เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจที่ตรงกัน
นายทศพล กล่าวว่า กลุ่มกรีนขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำนโยบายราคาพลังงานให้เป็นธรรม โดยการเปิดเผยแหล่งพลังงานทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศ และที่ให้สัมปทานกับประเทศในและต่างชาติมีอยู่เท่าไรที่ใดบ้าง รวมทั้งการเปิดเผยมูลค่าที่แท้จริงของแหล่งพลังงานนั้นๆ และรัฐบาลต้องดำเนินตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นธรรมกับประเทศ ทั้งยังต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานของชาติ โดยรัฐบาลต้องประกาศและดำเนินนโยบายให้ชัดเจน การวางตัวในการพิทักษ์รักษาทรัพยากรในอ่าวไทย หรือแม้แต่ในพื้นที่ภาคอีสานที่ให้สัมปทานกับประเทศจีนไปแล้วนั้น รัฐบาลต้องประกาศให้สังคมไทยได้รับรู้ว่า รัฐบาลมีแนวทางอย่างไรในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ
ขณะที่ พ.อ.พิเศษ ไพโรจน์ นิยมพันธุ์ คณะทำงานกลุ่มการเมืองสีเขียว (Green Politics) กล่าวเสริมในส่วนของบัญชีดำ 10 โครงการของรัฐบาลที่ทำลายหลักธรรมาภิบาล หรือ 10 แบล็กลิสต์เมกะโปรเจ็คต์ ว่า จากการสำรวจและวิเคราะห์โครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่จะส่งผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม มีปัญหาความไม่โปร่งใส ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง มีความไม่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งอาจเป็นเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงในสังคมขึ้น หรือเป็นโครงการที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยมีทั้งหมด 10 โครงการ ดังนี้
1. โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้
2. โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนส่งทางบกของ กยอ.วงเงิน 1.46 ล้านล้านบาท
3. โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย
4. โครงการรถไฟรางคู่ช่วงชุมพร-ประจวบคีรีขันธ์
5. โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล
6. โครงการเหมืองแร่โปแตส จ.อุดรธานี
7. โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อมแม่วงก์
8. โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
9. โครงการถมทะเลสร้างเมืองใหม่
และ 10. โครงการรถไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี
ขณะที่ นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ คณะทำงานกลุ่มการเมืองสีเขียว (Green Politics) กล่าวถึงความคืบหน้าที่ได้ทางกลุ่มได้เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องขอให้ตรวจสอบปัญหาทางจริยธรรมของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำจากกรณีการแต่งตั้ง นางนลินี ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า หลังจากยื่นหนังสือแล้วทั้ง 2 รัฐมนตรีก็ยังเข้าทำงานตามปกติ ในขณะที่สังคมยังตั้งข้อกังขาถึงหลักจริยธรรมของรัฐมนตรี โดยเรื่องที่ทางกลุ่มได้ยื่นให้ตรวจสอบนั้นได้อยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว และผู้ตรวจบางคนได้ออกมาแสดงท่าทีเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ จนเชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะสามารถพึ่งพากับการตรวจสอบของผู้ตรวจการแห่นดินในครั้งนี้ได้
“กลุ่มกรีนอยากจะกล่าวไปถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า เรื่องนี้ส่งผลต่อเกียรติภูมิของประเทศ และจะเป็นบรรทัดฐานทางจริยธรรมของรัฐมนตรีในอนาคตด้วย จึงขอเรียกร้องให้ทำหน้าที่ครั้งนี้เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนด้วย” นายจาตุรันต์ กล่าว