xs
xsm
sm
md
lg

กสม. ชี้โซเซียลมีเดียทรงอิทธิพล แต่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการสิทธิฯ ตั้งวงเสวนา”สื่อออนไลน์กับนักสิทธิมนุษยชน” ยอมรับโซเซียลมีเดียทรงอิทธิพลต่อสังคมสูง เปรียบเป็นดาบสองคม สร้างความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ชี้ต้องระวังการใช้ และรู้เท่าทัน

วันนี้ ( 26 ม.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “สื่อออนไลน์กับนักสิทธิมนุษยชน”โดยนางปาริชาติ สถาปิตานนท์ อ.คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราฟังแต่สื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว แต่วันนี้สื่อออนไลน์มีอิทธิพลสูง สร้างแรงจูงใจ ใครตั้งประเด็นอะไรแล้วมีใครนำไปขยายต่อประเด็นนั้นก็จะแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วและเป็นประเด็นที่ใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตามโลกของโซเซียลมีเดียผู้ใช้ก็ต้องระมัดระวัง เพราะสิ่งที่โพสต์ลงไปอาจจะไปละเมิดสิทธิของคนอื่นได้ สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายคนรุ่นใหม่ที่จะใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ ดั้งนั้นการใช้จะต้องรู้สิทธิและหน้าของตนเอง และต้องรู้เท่าทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากใช้สื่อออนไลน์ทั้งถ่ายคลิป โพสต์ข้อความ ดังนั้นอาจารย์ต้องสอนและทำความเข้าใจ รู้จักใช้ เพราะสิ่งที่ท้าทายขณะนี้ในโลกออนไลน์ คือ จริยธรรม

นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ พิธีกรรายการคนค้นคน กล่าวว่า ตนใช้นิวมีเดียในการใช้งานสั่งงานพนักงานบริษัทมากกว่าการใช้โทรทัศน์ ซึ่งถือว่าสะดวกทำได้ตลอดเวลา ในขณะที่สื่อกระแสหลักมีข้อจำกัด อย่างในช่วงน้ำท่วมตนก็ใช้นิวมีเดียในการขอความร่วมมือบริจาคสิ่งของ ขอแรงมาช่วยกัน ซึ่งเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างคนที่ต้องการความช่วยเหลือและที่ให้ความช่วยเหลือ โดยปกติหากปัจจุบันไม่มีนิวมีเดียทุกคนก็จะสื่อสารกันลำบาก ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน แต่เมื่อปัจจุบันนิวมีเดียมีการพัฒนาก้าวล้ำมากขึ้นก็มีส่วนช่วยให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายและสะดวก แต่ความง่ายและความสะดวกสบายก็มีส่วนทำให้มนษย์ขาดการไตร่ตรอง ยับยั้งชั่งใจ ในการที่จะแสดงความคิดเห็นต่อพื้นที่สาธารณะ

นายสุทธิพงศ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ตนใช้สื่อออนไลน์เชื่อมความสัมพันธ์กับลุกของตัวเองด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ต้องการที่จะจับผิด แต่เป็นการทำให้ทราบถึงความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของลูก รวมทั้งทำให้เห็นว่าสังคมที่ลุกกำลังอยู่นั้นเป็นแบบใด หากอยู่ในสังคมที่ดีก็ถือว่าโชคดีไปแต่หากเห็นว่าสังคมที่ลูกกำลังอยู่นั้นไม่น่าไว้ใจ เราก็สามารถใช้โอกาสนี้เข้าไปแนะนำหรือให้คำปรึกษาได้ทันที ดังนั้นผ้ปกครองอย่าวางเฉย ควรศึกษาและช่วยกันพิจารณาเพราะช่องทางดังกล่าวก็มีส่วนช่วยทำให้เราและลุกใกล้ชิดกัน

ด้าน น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า อิทธิพลของสื่อออนไลน์มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงปี 2554 ในเหตุการณ์ต่างๆในต่างประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงในโลกอาหรับหลายประเทศ การจลาจลในประเทศอังกฤษ เกิดขึ้นเพราะสื่อออนไลน์ที่คนใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง บางเรื่องสื่อกระแสหลักไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่สื่อออนไลน์เข้าถึงได้ อย่างเช่น ใช้สื่อออนไลน์พูดถึงกม.บางมาตราที่ไม่สามารถพูดในที่สาธารณะได้

อย่างไรก็ตามผู้ใช้ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น แม้ว่าเราจะเล่นในเฟส มือถือ ซึ่งเป็นของส่วนตัว แต่เมื่อโพสต์ข้อความถูกเซฟเก็บไว้กลายเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อศาลได้ เพราะเมื่อโพสต์ข้อความไปก็กลายเป็นข้อความสาธารณะมีคนนำไปแสวงหาผลประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น