หน.ปชป.แนะ รัฐทบทวนออก พ.ร.ก.เงินกู้ 4 ฉ.เสี่ยงขัด รธน.จวกแผนบริหารนโยบาย ศก.จ้องล้วงกระเป๋า ปชช.ปล้นแบงก์ชาติ หวังฮุบธนบัตรอยู่ในมือ แนะอย่าใช้การเมืองมานำเศรษฐกิจ
วันนี้ (24 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลใช้ตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณ 12% ซึ่งในความเป็นจริงตัวเลขอยู่ที่ 9.33% เท่านั้น ว่า สิ่งที่ นายธีระชัย ออกมาเปิดเผยตรงกับที่พรรคประชาธิปัตย์ พูดมาโดยตลอด คือ 9% ซึ่งตนยังไม่ทราบว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าในเรื่อง พ.ร.ก.4 ฉบับหรือไม่ แต่สิ่งที่ นายธีระชัย ออกมาเปิดเผยทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น ว่า การตรา พ.ร.ก.น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะทบทวนการออก พ.ร.ก.ทั้งหมดก็ยังสามารถทำได้ เพราะตนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการออก พ.ร.ก.โดยขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ารัฐบาลยังยืนยันก็ต้องส่งให่ศาลรัฐธรรมนูญตีความกัน
“ผมคิดว่า สิ่งที่ คุณธีระชัย ให้ความเห็นทำให้สังคมไทยเห็นวิธีการทำงานของรัฐบาลว่า อันตรายมาก ในแง่การเอาหลักคิดทางการเมืองมานำเศรษฐกิจ โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งเข้าใจว่า การร่าง พ.ร.ก.ทำกันในวงจำกัดมาก อย่าลืมว่าแม้แต่แบงก์ชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับกระทบโดยตรง ก็ยังไม่เคยเห็นกฎหมาย จนถึงวันนี้ทำให้ผมไม่แน่ใจว่า การตัดสินใจของรัฐบาลอยู่บนฐานข้อมูลจากใครบ้าง เป็นปัญหาแน่นอน เพราะไม่มีความจำเป็นที่ต้องจำกัดวงขนาดนั้น และสภาพัฒน์ควรที่จะออกมาชี้แจง เพราะเป็นหน่วยงานที่ถูกพาดพิง ว่า เป็นผู้ให้ตัวเลข 12% กับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ซึ่งความจริงแล้วตัวเลขเกี่ยวกับภาระหนี้งบประมาณควรจะต้องดูที่กระทรวงการคลังเป็นหลัก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่า มีความเสี่ยงกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร ที่วันนี้นักตบแต่งบัญชีมาเป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลเดินบนเป้าหมายของการล้วงกระเป๋าจากประชาชน จากแบงก์ชาติ ทำทุกวิถีทางให้มีเงินมากองอยู่ในมือของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่คำตอบในการบริหารเศรษฐกิจ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีมติต่ออายุในการงดเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 1 เดือน ว่า ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหานโยบายพลังงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลได้ เพราะหลักคิดของรัฐบาลยังปล่อยให้มีการขึ้นราคาต่อเนื่อง เพียงแต่กำลังอาศัยกลไกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมาใช้ และไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาลูกโซ่ที่ตามมา ซึ่งตนเข้าใจว่าสุดท้ายรัฐบาลก็จะเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตอีกครั้ง
โดยไม่มีการทบทวนว่าจะบริหารจัดการกันอย่างไร ซึ่งเท่ากับว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะต้องรับเคราะห์กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันจะขึ้นสูงไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นข้ออ้างทำให้ราคาสินค้าชนิดอื่นขึ้นสูงไปด้วย ซึ่งจะเป็นปัญหามากทั้งในแง่ของเงินเฟ้อ และกระทบกับความมั่นใจของประชาชน