ส.ว.สรรหา เปรียบโฉมหน้า ครม.ปู 2 เสมือนบริษัท ชินคอร์ป คุมประโยชน์ชาติเบ็ดเสร็จ รู้ทันส่ง “สุกำพล” นั่ง รมว.กลาโหม หวังล้วงลูก-ดึงกองทัพเป็นเครื่องมือ จี้ สำนึกดู สตช.เป็นบทเรียน เหตุโดนแทรกแซงจนประชาชนพึ่งไม่ได้
วันนี้ (19 ม.ค.) ที่รัฐสภา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และอดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงการปรับ ครม.ว่า เป็นที่ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศเป็นเหมือนบริษัทลูกของกลุ่มชิน เพราะส่งผู้บริหารกลุ่มชินเข้าไปดูแล เป็นรัฐมนตรี เปรียบเสมือนเป็นกรรมการบริหาร เพื่อมาควบคุมดูแลผลประโยชน์ของบริษัทแม่ ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ซึ่งเกี่ยวกับการการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนที่อาจเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทของตนและพวกพ้อง โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน ที่ดูแลทรัพยากรมหาศาลของชาติ ซึ่งอาจตกลงธุรกิจกับประเทศใกล้เคียงในเรื่องทรัพยากร นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า นปช.มีความเชื่อมโยงและมีอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นการปรับตามความต้องการและตอบสนองประโยชน์ของกลุ่ม นปช.
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวอีกว่า การปรับให้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.กลาโหม เพื่อให้มีบทบาทเข้าไปแทรกแซงกองทัพ และพยายามไปแก้ พ.ร.บ.กลาโหม ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล ถือเป็นหลักฐานสำคัญ เป็น ตท.รุ่น 10 ด้วยกันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งก่อนการปฏิวัติ เป็นบุคคลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้วางตัวไว้เป็น ผบ.ทอ.แต่ก็มีการปฏิวัติก่อน เพราะฉะนั้นการเข้ามาของ พล.อ.อ.สุกำพล ก็เพื่อต้องการให้มีอิทธิพลเหนือกองทัพ ให้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งจะกระทบต่อกองทัพอากาศอย่างแน่นอน เพราะ พล.อ.อ.สุกำพล เคยพลาดตำแหน่ง ดังนั้น จะต้องเข้าไปล้วงตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ผบ.ทอ.ก็คงยอมไม่ได้ นอกจากนี้ตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพ อาจรับใบสั่งทางการเมืองหรือตั้งคนที่ไว้ใจได้เข้ามาเป็น
“เมื่อเป็นเช่นนี้สัมพันธภาพที่ดีระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ที่กองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการลงไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยก็จะเริ่มสั่นคลอน ซึ่งจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับ พล.อ.อ.สุกำพล ทั้งนี้ ความตั้งใจที่จะเข้าไปแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ในฐานะที่ท่านเป็นทหารต้องมีจิตสำนึก ให้กองทัพเป็นกองทัพของประเทศชาติ และประชาชน ไม่ใช่เป็นของนักการเมือง อยากให้ดูบทเรียนจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่นักการเมืองสามารถเข้าไปแทรกแซงได้ เช่น สตช.ว่า ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อีกหรือไม่ เพราะหากการเมืองสามารถแทรกแซงกองทัพได้ในขณะที่นักการเมืองของเราไม่สามารถไว้วางใจแล้ว เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไร จะเกิดความแตกแยก ขาดความเข้มแข็ง ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ คือ การปกป้องอธิปไตยประเทศได้ ประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร ได้กำกับดูแลทหาร” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำลังสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกในสังคมหลายประการ ทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ดีตรงไหน อย่างไร แก้แล้วประเทศจะได้ประโยชน์อย่างไร กลับก้าวข้ามไปเสนอวิธีการแก้ไข ปัญหาการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายเช่นเดียวกับสากลที่คุ้มครองประมุขของประเทศ หากใครไม่ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายก็ไม่ผิด เหตุใดจึงต้องแก้ไข ขณะที่ปัญหาเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค.ทั้งที่เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองยังเป็นที่คลางแคลงใจในสังคม ว่า ผู้ใดก่อเหตุ ยังไม่สามารถชี้ว่าใครถูกใครผิด แต่กลับใช้ภาษีของประชาชนไปเยียวยาให้กับบุคคลที่เป็นฐานสนับสนุน ถือว่าสร้างความสะเทือนใจให้กับสังคมเป็นอย่างยิ่ง เงื่อนไขต่างๆรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ แต่กลับโยนเงื่อนไขความขัดแย้งกับกองทัพมาอีกแล้วรัฐบาลจะบริหารประเทศชาติได้