“อภิวันท์” รับสภาพวืดเก้าอี้ รมต.แม้มีคนเชียร์เยอะ พ้ออาจมีจุดอ่อน ยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่งใดๆ ปัดบินกดดันนายใหญ่จนพลาด ป้อง “ณัฐวุฒิ” แม้ไร้ประสบการณ์ด้านการเกษตร แต่เชื่อทำหน้าที่ได้ แย้มอีก 1-2 เดือน พท.เสนอแก้ รธน.ม.291 ต่อสภาฯแน่
วันนี้ (18 ม.ค.) พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข่าวที่ระบุว่าได้เข้าไปกดดันผู้มีอำนาจตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนทำให้พลาดจากเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ว่า ไม่เป็นความจริง และที่ผ่านมา ตนไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อพบใคร หรือขอตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น โดยเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนยังปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม กรณีที่ตนไม่ได้ตำแหน่งในรัฐมนตรีครั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าตนยังมีจุดอ่อน และยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่งใดๆ ซึ่งที่ผ่านมา ตนไม่ได้เข้าร้องขอ หรือแจ้งความประสงค์ว่าอยากเป็น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีเสียงวุฒิสภาวิจารณ์ ว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ เพื่อต่างตอบแทนผลประโยชน์ทางการเมือง พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า เท่าที่ตนพิจารณา ไม่ได้เป็นในลักษณะดังกล่าว เพราะหากเป็นการต่างตอบแทนเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มคนเสื้อแดงน่าจะได้ตำแหน่งมากกว่านี้ แต่ภาพที่ตนเห็นนั้นได้แสดงให้เห็นว่าพิจารณาตามความเหมาะสม
“เหตุที่ผมไม่ได้เป็น อาจเพราะไม่มีความเหมาะสม เมื่อไรเหมาะสมก็อาจจะได้เป็น ที่ผ่านมาคนเขาก็เชียร์เยอะ แต่อาจจะยังไม่เหมาะสม ณ ขณะนี้ ส่วนจะเหมาะสมเมื่อใด คง ณ ขณะหน้า” พ.อ.อภิวันท์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะแกนนำเสื้อแดง ได้รับตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ คงพิจารณาว่า นายณัฐวุฒิ สามารถปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะเรื่องเกษตร ส่วนประวัติการศึกษาของ นายณัฐวุฒิ ที่ไม่ได้จบหรือเรียนทางด้านเกษตรมานั้น ตนไม่วิจารณ์ ขอให้ไปสอบถามนายณัฐวุฒิ เอง ส่วนตัวเชื่อว่า นายณัฐวุฒิ จะสามารถทำงานได้
พ.อ.อภิวันท์ ยังได้กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในส่วนของพรรคเพื่อไทย หลังจากที่ได้สรุปว่า จะแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เป็นตัวแทนมาจากประชาชนจังหวัดละ 1 คน รวมเป็น 77 คน จากนั้นจะให้ ส.ส.ร.77 คนนั้น เป็นผู้เลือกนักวิชาการให้เข้าร่วมเป็น ส.ส.ร.จนครบจำนวน 100 คน ว่า ขณะนี้ได้มีการเตรียมร่างแก้ไขมาตรา 291 ไว้แล้ว เพื่อเปิดให้มี ส.ส.ร.สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น ส.ส.ร.มองว่า ควรกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ เช่น เป็นผู้มีความรู้ด้านนิติศาสตร์, รัฐศาสตร์ หากเป็นข้าราชการต้องกำหนดระดับตำแหน่ง (ซี) ให้ชัดเจน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังไม่ได้หารือกันแต่เป็นเพียงร่างในหลักการเท่านั้น
“ผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไรนั้น ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยคือ ให้ ส.ส.ร.เป็นผู้พิจารณากันเอง แต่เมื่อยกร่างแก้ไขเรียบร้อยแล้วนั้น ต้องนำร่างแก้ไขให้ประชาชนลงประชามติ ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาให้ลงมติ” พ.อ.อภิวันท์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงดีเดย์ที่จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาฯ พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนด อีกทั้งประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับประธานวิปฯรัฐบาล สำหรับเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมพรรคเพื่อไทย เห็นว่า หากรอไป 1-2 เดือน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในกรอบเวลาไม่เกิน 1 ปี ดังนั้น จะรอไปอีก 1-2 เดือน คงไม่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญช้าไปกว่านี้ สำหรับความเห็นของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่เป็นผู้ริเริ่มผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เห็นตรงกันว่าอยากให้รัฐบาลใช้เวลาแก้ไขและเยียวยาด้านเศรษฐกิจก่อน ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ระบุถึงความผิดเกี่ยวกับสถาบัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวจากภาคนักวิชาการที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของนักวิชาการที่จะดำเนินการ เท่าที่ฟังนั้นไม่ใช่เป็นการยกเลิกกฎหมาย แต่เป็นการปรับปรุงแก้ไขให้กฎหมายดีขึ้น เบื้องต้นหากภาคนักวิชาการเสนอร่างแก้ไขมาสู่สภาฯ ต้องขึ้นกับเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมสภาฯ ว่า จะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ อีกทั้งต้องรอพิจารณาร่างกฎหมาย มาตรา 112 ที่นักวิชาการได้แก้ไขแล้วก่อน