รมว.กลาโหมเปิดงานวันสถาปนาภาค1 อ้างเยียวยาทหารใต้ทำระยะยาว พร้อมพิจารณาเพิ่ม อ้างจ่ายศพม็อบเพื่อปรองดอง คาดอีก 1 สัปดาห์เห็นผล หนุนรวมเหตุตากใบด้วย ไม่วิจารณ์โจกพาคนมาตาย ไม่เห็นมีนัยยะส่อถูกเด้งพ้นเก้าอี้
วันนี้ (13 ม.ค.) ที่กองทัพภาคที่ 1 เมื่อเวลา 07.00 น. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม เดินทางเป็นประธานในการจัดงานวันสถาปนากองทัพภาคที่ 1 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งอดีตผู้บังคับบัญชาของกองทัพที่1 มาร่วมงาน เช่น พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี พล.อ.วัฒนชัย วุฒิศิริ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ชัยณรงค์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. และ พล.อ.นิพนธ์ ภารัญนิตย์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก
พล.อ.ยุทธศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นวันที่ภูมิใจที่ได้กลับมาบ้านเก่า ตนรับราชการในกองทัพภาคที่ 1 มา 29 ปี วันนี้กลับมาเป็นประธานถือว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในชีวิตทหาร และ รู้สึกยินดีที่น้องๆ ให้เกียรติเชิญมาเป็นประธาน ซึ่งกองทัพภาคที่ 1 มีการเตรียมงานที่ดีขึ้น มีผู้บังคับบัญชาที่มีความสามารถสูงขึ้น แม่ทัพภาคที่ 1 คนปัจจุบันก็ได้พัฒนากองทัพภาคที่ 1 ไปไกลมาก นอกจากดูแลปัญหาน้ำท่วมจนไม่มีเวลาพักผ่อนแล้วยังดูแลทหารด้วย
พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองว่า ต้องไปถามกระทรวงมหาดไทย เพราะว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เตรียมเรื่องรายละเอียด ขั้นตอนการปฏิบัติ การมอบเงินให้ ซึ่งปัญหาที่เป็นปัญหาอยู่และมีผู้คัดค้านก็จะได้นำมาพิจารณาความเหมาะสมที่จะแก้ไขปัญหา ส่วนที่ถามว่าทำไมทหารที่บาดเจ็บในพื้นที่ภาคใต้จึงได้รับน้อยกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมนั้น เรื่องนี้เรามีระเบียบที่จะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ภาพการปฏิบัติหน้าที่ภาคใต้เราดูแลทหารของเราในระยะยาว ไม่ใช่การเยียวยาแล้วจบ เราดูถึงบุตรที่ต้องดูแลให้เรียนจบปริญญาตรี และให้บุตรได้ทำงาน แต่หากเห็นว่าไม่เหมาะสมหรือน้อยเกินไป ก็อาจพิจารณาเพิ่มเติมให้ได้
เมื่อถามว่า เหมาะสมหรือไม่ที่นำเงินเยียวยาให้สร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองแทนที่จะให้กับทหารที่ปกป้องประเทศชาติ พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ต้องมองภาพของความปรองดอง ซึ่งขณะนี้กำลังจะเข้าไปสู่ความปรองดองทีละขั้นตอน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ความปรองดองก็จะไม่เกิดขึ้น ส่วนกรณีที่มีกลุ่มออกมาต่อต้านนั้นก็ต้องมีการพูดคุยกันและต้องปรับแผน ปรับขั้นตอนตามที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่าเป็นมติเท่านั้น ยังไม่ได้มีการปฏิบัติ ซึ่งการปฏิบัติต้องมีขั้นตอนพิจารณาและตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูอีกครั้ง คงต้องรอดูอีก 1 สัปดาห์จึงเห็นแนวทางการปฏิบัติ
“แต่เรื่องของภาคใต้ ผมก็เห็นด้วย แม้แต่กรณีตากใบก็ต้องเยียวยา ต้องดูครอบครัวเขาด้วยเพราะเขาเสียชีวิตไปโดยเขาไม่ได้มีความผิดอะไร ซึ่งตอนหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเราก็มีนโยบายในการเยียวยาเพื่อสร้างความรัก ความปรองดองให้เกิดกันในชาติ จึงต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นในทางที่ดีกับประเทศ ผมคิดว่าต้องทำ และต้องทำไปตามลำดับขั้น ความคิดของแต่ละฝ่ายน่าจะได้นำมาพิจารณา และปรับแผนให้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเขาก็บอกว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาและปรับแผนในการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย อย่าเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ที่เสียชีวิตจากการชุมนุม กับทหารในภาคใต้ เพราะทหารเราจะดูแล หากอะไรที่ไม่เหมาะสมเราก็จะพูดกับรัฐบาล แต่วันนี้เรามองเรื่องความรักใคร่ปรองดอง ความสามัคคีของคนในชาติเป็นหลักก่อน ขอให้รอสัปดาห์หน้าที่ผลการพิจารณาออกมาว่าอะไรเป็นอะไร จะมีอะไรที่ตัดออกหรือเพิ่มเติม จากที่หลายฝ่ายให้ข้อคิดเห็น ส่วนกรณีที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่นำคนมาทำให้เกิดการเสียชีวิตต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ” พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าว
พล.อ.ยุทธศักดิ์ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการปรับ ครม.ในตำแหน่ง รมว.กลาโหมว่า “ไม่เห็นมีนัยอะไรที่เกี่ยวข้องกับผมเลย”
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เสียชีวิตที่ระหว่างการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 มีทั้งหมด 87 คน