ชาวบ้านวังน้ำเขียวร้อง “ยิ่งลักษณ์” ช่วย โอด จนท.อุทยานฯ อ้างบุกรุกป่า เข้าจับกุมและทุบรีสอร์ต ขอทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดโซนป่าสงวนให้ชัดและสอดคล้องกับผังเมืองโยธา สำหรับผู้รุกที่ดินรัฐโดยผิดเงื่อนไขให้ผ่อนผันเป็นเช่า แทนดำเนินคดี และระงับคำสั่งฟ้องทั้งหมด
วันนี้ 12 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายภาคประชาชน อ.วังน้ำเขียว ประมาณ 50 คน นำโดยนายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล เข้าร้องเรียนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีประชาชนในพื้นที่วังน้ำเขียวได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และกรมป่าไม้ ดำเนินการจับกุมเพื่อดำเนินคดี และทำการทุบทำลายรีสอร์ตในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว โดยกล่าวหาว่าประชาชนเป็นผู้บุกรุกอุทยานป่าสงวนแห่งชาติทับลาน จ.นครราชศรีมา
ทั้งนี้ นายชุณห์ ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเรียกเพื่อให้นายกฯ แก้ไขปัญหาพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว 5 ประการ ประกอบด้วย 1. กำหนดแนวเขตป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์และพันธุ์พืช และสำนักงานปฏิรูปที่ดินโดยมีคณะกรรมการร่วมทบทวน พร้อมทั้งกำหนดแนวเขตป่าสงวนโซนซี ป่าสงวนแห่งชาติภูหลวงที่ทับซ้อนพื้นที่ชุมชนให้แจ้งชัด โดยมีข้อตกลงพื้นที่ร่วมกันทุกภาคส่วนตามความเป็นจริง 2. ให้หน่วยงานของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินร่วมดำเนินการจัดรูปที่ดินตามข้อที่ 1 ให้ชัดเจน เพื่อกำหนดพื้นที่วังน้ำเขียวให้สอดดคล้องกับผังเมืองที่ทางโยธาจังหวัด และผังเมืองได้วางไว้เป็นพิเศษ เพื่อท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และอนุรักษ์อย่างยั้งยืน
3. ให้นำมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2541 มาใช้โดยผ่อนผันในกรณีที่ราษฎรเข้ามาในที่ดินของรัฐภายหลังมติดังกล่าวด้วย ทั้งในส่วนของป่าไม้และอุทยานทับลาน 4. หยุดดำเนินคดีหรือดำเนินการใดๆ ในกรณีเข้ามาอยู่อาศัยที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือผิดเงื่อนไข (ในกรณี ส.ป.ก.) โดยให้ผ่อนผัน เช่า หรือเช่าซื้อ โดยให้ราษฎรได้อาศัยที่ดินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย และ 5.คดีที่แจ้งความร้องทุกข์แล้ว ให้พนักงานสอบสวนอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม นายสุรทิน พิจารณ์ ตัวแทนนายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษานายกฯ เป็นผู้มารับเรื่องเพื่อให้นายกฯ พิจารณาเร่งรัดเข้ามาแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังเร่งดำเนินการเรื่องจัดสรรพื้นที่วังน้ำเขียว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นให้รอมติ ครม. จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ ประสานงานตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นส่วนกลางและมีภาคประชาชนเข้าร่วมเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาไปก่อน