xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สภาพัฒนาการเมือง เชื่อ พท.ขาด “แม้ว” อยู่ยาก -ปชป.ไม่ตายแต่ไม่โต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุจิต บุญบงการ (แ้ฟ้มภาพ)
“สุจิต” ผ่าโครงสร้างพรรคการเมืองไทย ชี้ยังยึดติดผู้นำ-เงินเป็นหลัก มองเพื่อไทยขาด “ทักษิณ” อยู่ยาก ขณะที่ปชป.ไม่ตายแต่ไม่โต ส่วน นปช.แค่การรวมตัวกันแลกผลประโยชน์บางอย่าง ไม่ใช่มวลชนที่สนับสนุนเพื่อไทยอย่างแท้จริง แนะพรรคฯ เอาอย่างทีมฟุตบอลจังหวัดในการพัฒนาตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 ม.ค. ในการอบรมหลักสูตรการพัฒนาพรรคการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่ 3 (พตส.3) ของสำนักงาน กกต. นายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายในหัวข้อ “การสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งความท้าทายภายใต้ระบอบประชาธิปไตย” ว่าพรรคการเมืองจะมีความเข้มแข็งและความต่อเนื่องเพื่อให้เป็นสถาบันทางสังคมไทยนั้น 1.พรรคการเมืองจะต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งและมีความต่อเนื่องของผู้นำ อย่างในกรณีของพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ถ้ามีการเปลี่ยนผู้นำไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีคำถามว่าพรรคจะสามารถยังดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ แต่พรรคประชาธิปัตย์นั้นได้พิสูจน์แล้วว่ามีความต่อเนื่องของผู้นำมาโดยตลอด จึงกลายเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ขึ้นมาได้ เพียงแต่พรรคนี้จะไม่สามารถใหญ่ไปกว่านี้ได้ เรียกว่าไม่ตายแต่ไม่โต

2 พรรคจะต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน และกลุ่มทางสังคม มีฐานมวลชนขึ้นมา ในยุคก่อน 14 ต.ค. 2516 พรรคการเมืองจะขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะสร้างขึ้นจากการรวมตัวของส.ส. เท่านั้น แต่ต่อมาเริ่มความพยายามจะให้ได้รับเลือกตั้งโดยผู้สมัครจะใช้วิธีการต่างๆ ทำให้คนคุมกฎก็พยายามสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาเป็นข้อห้ามเพราะมองว่าวิธีการที่ผู้สมัครใช้เป็นการซื้อเสียง ไม่ว่าเป็นการสัญญาว่าจะให้ การฉายหนัง ฯลฯ ซึ่งมีฐานคิดว่า เพื่อให้คนที่ไม่มีเงินสามารถสู้กับคนมีเงินได้อย่างเสมอภาคแต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะคนที่มีเงินก็เปลี่ยนวิธีการเป็นการซื้อตรง จุดนี้กกต.ต้องพิจารณาว่าควรมีการปรับแก้กฎหมายอย่างไรหรือไม่

“ปัจจุบันพรรคการเมืองมีการเชื่อมโยงกับประชาชนและกลุ่มที่ทางสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยขณะนี้ที่มีความได้เปรียบมาก เพราะนอกจากหัวหน้าพรรคตัวจริงอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ จะมีเงินมาก ยังมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับประชาชน เป็นแบ็คอัพ คือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงที่มีจำนวนมาก ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดแนวทางพรรคเก่าแก่ที่เน้นอนุรักษ์นิยม ไม่มีการสร้างฐานมวลชน เป็นแบ็คอัพ ทำให้ขาดทุน แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยก็มีคำถามถึงฐานเสียงของพรรคอย่างกลุ่มนปช. ว่าพร้อมสนับสนุนพรรคในทุกเรื่องหรือไม่ หรือเป็นแนวร่วมบางเรื่อง บางนโยบาย ซึ่งถ้าหากนโยบายของพรรคไม่ตรงกับความต้องการของตัวเอง แนวร่วมก็จะแตกออกไม่สนับสนุนพรรคต่อไปหรือไม่ ตรงนี้คงต้องใช้เวลาพิสูจน์ เพราะอย่างในภาคอีสาน ทุกคนจะบอกว่ารักทักษิณ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังเป็นน้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เปรียบเสมือนลูกที่คนอีสานก็รักด้วย แต่ตรงนี้เป็นเรื่องของตัวบุคคล เรื่องของนโยบายต่างๆ ที่พรรคนำเสนอ คนอีสานยังไม่มีการพูด ว่าชอบหรือไม่ชอบอย่างไร” นายสุจิตกล่าว

ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่ได้มีฐานมวลชนที่แท้จริง มีเพียงความนิยมส่วนบุคคล ที่มารวมกันเป็นพรรคเท่านั้น เมื่อก่อนแกนนำส่วนใหญ่ของพรรคเป็นคนใต้ แต่ปัจจุบัน เริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่คนใต้โตขึ้นมาอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ก็ทำให้เกิดปัญหาความคิดที่ขัดแย้งกับกลุ่มของคนภาคใต้ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ แต่อย่างไรก็ตามพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ เพราะคนใต้ยังให้การสนับสนุน ส.ส.ที่เป็นคนใต้ ยังมีความผูกพันกันอยู่ ขณะที่ กทม.แม้นายอภิสิทธิ์จะเป็นหัวหน้าพรรค เป็นคน กทม. แต่ฐานของ กทม.ไม่ได้เป็นของพรรคใดพรรคหนึ่ง ถ้าดูจากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ฐานของ กทม.จะเปลี่ยนไปตามประเด็นทางการเมือง ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ หากต้องการมีฐานเสียงใน กทม.ก็ต้องเหนื่อยเพราะคน กทม.จะเปลี่ยนความชอบไปเรื่อยๆ ถ้าสิ่งเดิมไม่ดี

“อุดมการณ์ทางการเมืองในยุคเริ่มต้นของพรรคการเมือง แต่ละพรรคจะมีอุดมการณ์แตกต่างกัน พรรคนี้ต้องการอนุรักษนิยม หรือทุนนิยม หรือเสรีนิยม สังคมนิยม ตามแต่ละพรรคมีแนวคิด แต่มาในระยะหลังนอุดมการณ์หรือนโยบายของแต่ละพรรคแทบจะไม่มีความแตกต่างกัน ต่างกันเฉพาะตัวบุคคลที่นำมาเป็นจุดขายเท่านั้น โดนเฉพาะหลังยุคของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่วงการเมือง เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย มีการชูนโยบายประชานิยม ทำให้บางพรรคที่ก่อนหน้านั้นไม่เอาประชานิยม ยังต้องเปลี่ยนนโยบายของพรรคให้เป็นประชาชนนิยม เห็นได้ชัดเจนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ว่าทุกพรรคการเมืองเน้นรูปแบบประชานิยม อย่างนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่มีนโยบายค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาทต่อวัน หรือเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท นี่คือประชานิยมอย่างชัดเจน พรรคประชาธิปัตย์เองก็ทำประชานิยมด้วยเพราะรู้ว่าได้ผล แต่กลับเป็นประชานิยมแบบแปลกๆ คือบอกว่าไม่เอาค่าแรง 300 แต่จะขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ ประชาชนฟังไม่เข้าใจ จึงไม่สำเร็จ คนไม่เลือก อย่างไรก็ตาม การสู้กันด้วยประชานิยมของทุกพรรคต่างบอกว่าจะใช้เงิน แต่ไม่มีการบอกว่าจะนำเงินจากไหนมาใช้ แต่สุดท้ายนโยบายก็ยังเป็นการเชื่อมโยงกับประชาชน แต่ไม่ได้สร้างฐานมวลชนอย่างแท้จริง เป็นการสร้างมวลชนแบบหลวมๆ จึงเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองว่าจะมีวิธีการอย่างไรให้พรรคของตัวเองมีมวลชนที่แท้จริงให้ได้ จึงจะสามารถทำให้พรรคการเมืองคงอยู่”

อย่างไรก็ตาม นายสุจิตยังเห็นว่าพรรคการเมืองไทยยังขึ้นกับตัวผู้นำและนักธุรกิจที่มีเงินมากเกินไป พรรคไม่ได้ใช้การสร้างตัวเอง หรือเป็นการสร้างผู้นำให้ประชาชนเลือก แต่กลับใช้การเชิญนักธุรกิจหรือคนที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองมาเป็นหัวหน้าพรรค ทำให้เราเห็นข่าวว่าพรรคการเมืองไปทาบทามคนนั้นคนนี้เข้าพรรค ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาพรรคการเมือง 1.ต้องทำให้พรรคอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าพิจารณาจากกฎหมายพบว่าการยุบพรรคเป็นตัวทำลายความต่อเนื่องของพรรคการเมือง เพราะทำให้แต่ละพรรคยกมาเป็นประเด็นในการยื่นยุบกันและกัน 2.พรรคจะต้องเชื่อมโยงกับประชาชน โดยให้สาขาพรรคและเขตเลือกตั้ง เข้ามามีบทบาทในการกำหนดตัวของผู้สมัคร 3.พรรคการเมืองต้องสร้างความตื่นตัวให้ประชาชน การที่กฎหมายกำหนดว่าคนที่ต้องการจะเป็น ส.ว., กกต. หรือองค์กรอิสระอื่น ห้ามเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนคิดว่าการยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็นเรื่องติดลบ เรื่องนี้จะต้องมีการแก้ไข ซึ่งอยากให้มีการพัฒนาพรรคการเมือง เหมือนทีมฟุตบอลในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยในขณะนี้ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้เล่นหรือผู้นำทีมอย่างไร ประชาชนในจังหวัดก็ยังต้องการเชียร์ทีมของตัวเองอยู่ หรืออย่างในต่างประเทศ ถ้าลูกเกิดในครอบครัวที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ลูกก็จะเป็นรีพับลิกันไปโดยปริยาย แต่เรื่องนี้ยังไม่เกิดในสังคมของไทย และคาดว่าจะไม่เกิดในระยะเวลาอันสั้น ถ้าพรรคการเมืองยังไม่ลดราวาศอกจากการเป็นของผู้นำพรรค ที่ผู้นำว่าอย่างไร ลูกพรรคต้องว่าอย่างนั้น ก็ไม่มีทางที่พรรคจะกลายเป็นของประชาชนได้

จากนั้นได้มีการสัมมนาในหัวข้อ “บทบาทที่เป็นจริงของกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ ต่อพรรคการเมือง”โดยนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า สังคมไทย เป็นสังคมที่รวมตัวกันแบบหลวมๆ ไม่ผูกติดไม่มีสัมพันธภาพแน่นแฟ้น เช่น อิทธิพลระบบอุปถัมภ์ หากเมื่อผู้อุปถัมภ์ตายจากหรือหายไป กลุ่มก็จะแตกแยกทันที ฉะนั้นสังคมในอดีตจึงค่อนข้างกลัวการรวมตัวของมวลชนเป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลมองว่า หากมีการรวมตัวขึ้นระหว่างมวลชนจะเป็นการส่งสัญญาณอันตราย หรืออาจเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต จึงไม่แปลกที่ในอดีต รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ประชาชนรวมกลุ่มหรือยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้ว่าประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตย จะยอมรับแต่ก็มองว่าอาจจะเกิดผลกระทบทางลบได้ เพราะเกรงว่ากลุ่มอิทธิพล มีจำนวนมากก็อาจจะสร้างปัญหาให้ประเทศเกิดความแตกแยก ขัดแย้งในภายหลัง

ทั้งนี้ บทบาทกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ของสังคมไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 แบ่งออกเป็น 3 ยุค ช่วง 2475-2516 มีกลุ่มคณะราษฎร์ ประกอบด้วยผลประโยชน์คือกองทัพ ซึ่งแบ่งออกเป็นฝ่าย มีความขัดแย้ง ช่วง2516-2540 ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 มีกลุ่มนักธุรกิจซึ่งแอบสนับสนุน ทหารก็ออกมาเล่นการเมือง หรือไปตั้งพรรคกับนักการเมือง ซึ่งในพรรคการเมืองหนึ่งมีทหารเป็นผู้นำ หรือพรรคการเมืองเก่าแก่ ที่มีกลุ่มนักธุรกิจค่อยสนับสนุน แต่ไม่เด่นชัดมาก เพราะภายในพรรคประกอบไปด้วยพรรคการเมืองท้องถิ่น

และช่วงหลังรัฐธรรมนูญ 40 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด พรรคการเมืองมีบทบาทมากขึ้น กองทัพ เริ่มลดบทบาทลง เพียงแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถต่อสู้กับอำนาจทางธุรกิจได้ เพราะกลุ่มนักธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาทกับทางการเมืองมากยิ่งขึ้น โดยมีทั้งกลุ่มการเมืองธุรกิจ ที่จ้องเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และกลุ่มนักธุรกิจการเมือง ที่ในอดีตเป็นเป็นเพียงนักธุรกิจแต่อยากมาเล่นการเมือง ทุ่มทุนตั้งพรรคการเมือง มีการซื้อเสียงพอได้อำนาจก็ถอนทุนคืน แม้จะมีการตั้งองค์กรอิสระต่างๆขึ้นมาถ่วงดุลอำนาจการทุจริต ก็ไม่สามารถต้านทานได้ ทำให้เกิดกลุ่มอิทธิพลที่เกิดจากมวลชน นั้นคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนกระทั่งกองทัพกระโดนเข้ามาจัดการ จนเกิดรัฐธรรมนูญ 50 ขณะเดียวกันพรรคการเมือง ก็เริ่มเข้าใจว่าฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงต้องมีการนำมวลชนภายนอกเข้ามาสนับสนุน จนเกิดเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น