ส.ส.กทม.เพื่อไทย แถลงซัด กทม.ทำเรื่องจ่ายเยียวยาสุดอืด จี้เร่งขั้นตอน ลดเงื่อนไข ขยายเวลาขึ้นทะเบียน แฉบ้านจัดสรรสร้างไม่เป็นไปตามแบบที่ได้รับอนุญาต ทำน้ำท่วม บ้านแตกร้าว จี้รัฐแบน
วันนี้ (5 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายวิชาญ มีนชัยนันท์ พร้อมด้วย นายสุรชาติ เทียนทอง นายอนุสรณ์ ปั้นทอง และ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีการเบิกจ่ายเงินเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย โดย นายวิชาญ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลพยายามเร่งดำเนินการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย แต่วิธีการ และขั้นตอนการปฏิบัติของสำนักงานเขตแต่ละเขตของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในขณะนี้นั้นมีความล่าช้า เนื่องจากจากจำนวนผู้ได้รับความเสียหาย จำนวน 828,603 ครัวเรือน มีผู้ยื่นความจำนงขอรับเงินไว้แล้วจำนวน 549,046 ราย แต่กลับได้รับเงินแล้วเพียงแค่ 268,624 ราย ดังนั้น ขอให้ทาง กทม.เร่งรัดวิธีการและขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติให้เร็วที่สุดด้วย ทั้งนี้ กระบวนการขอรับเงินชดเชยความเสียหายจำนวน 1-3 หมื่นบาทนั้น น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนในการเบิกจ่ายให้แก่ประชาชน เพราะในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยนั้น จะดำเนินการในการตรวจสอบแล้วเสร็จภายใน 15 วัน จากนั้นเป็นขั้นตอนที่ธนาคารออมสิน โอนเงินให้กับ กทม.เพื่อนำจ่ายผู้ประสบภัยต่อไป
นายวิชาญ กล่าวอีกว่า ตนยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร เพราะจากเหตุน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าประชาชนในหมู่บ้านบางหมู่บ้านนั้น ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ผู้ประกอบการหมู่บ้านจัดสรรไม่ยอมดำเนินการให้เป็นไปตามรูปแบบที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนนไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงต่ำไม่เท่ากัน หรือโครงสร้างบ้านแตกร้าว เพราะไม่ได้มาตรฐานจากการปลูกสร้าง เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ขอให้ประชาชนร้องเรียนมาที่คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องขึ้นแบล็กลิสต์หมู่บ้านดังกล่าวไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นั้นมีความรอบคอบมากกว่านี้
ด้าน นายสุรชาติ กล่าวว่า รัฐบาลอนุมัติกรอบวงเงินที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนแล้ว และนายกรัฐมนตรีก็ได้กำชับหลายรอบแล้วว่าให้เร่งดำเนินการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากขั้นตอนของสำนักงานเขตที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่ใช้เอกสารไม่เหมือนกันในแต่ละเขต นอกจากนี้ ประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ริมคลองนั้น แม้ว่าจะเป็นพื้นที่บุกรุก แต่ก็อาศัยกันมานานกว่า 10 ปี มีการจัดตั้งเป็นชุมชน มีบ้านเลขที่ และมีน้ำไฟชัดเจน เพียงแต่ไม่มีโฉนดเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถขอรับเงินเยียวยาฟื้นฟูจำนวน 1-3 หมื่นบาทได้ ดังนั้น อยากให้ทาง กทม.ช่วยลดเงื่อนไขลงด้วย รวมทั้งอยากขอให้ขยายระยะเวลาในการขึ้นทะเบียน และรับเงินช่วยเหลือออกไปด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องนั้นรับเรื่องได้เพียงวันละประมาณ 100 ราย แต่มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนนับหมื่นราย