คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เดินหน้าให้ความรู้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์-ตำรวตทั่วประเทศ หวังลดปัญหาการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เผยเลขาฯ กสม.ยังว่าง หลังย้าย “หมอชูชัย” รอคณะกรรมการฯ ตัดสินใจจะคัดเลือก หรือเลื่อนลำดับขึ้นมาทำหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2554 ถึงวันที่ 23 ธ.ค. 2554 มีประชาชนยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กสม. รวม 536 เรื่อง โดยประเภทสถิติสิทธิที่มีประชาชนถูกละเมิดร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 102 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 19.03 รองลงมา ได้แก่ สิทธิในการจัดการที่ดิน จำนวน 66 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 12.31 สิทธิชุมชน จำนวน 59 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11.01 สิทธิในชีวิตและร่างกาย จำนวน 48 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 8.96 ได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรม จำนวน41 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 7.65 สิทธิทางการเมือง 32 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 5.97 เป็นต้น
ด้าน พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม). ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงสาเหตุที่มีประชาชนร้องเรียนกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดว่า เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่มีการร้องเรียนเข้ามายัง กสม.ในปริมาณที่มากนั้น เนื่องจากเป็นเรื่องร้องเรียนจากทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานปกครอง ซึ่งต้องรอให้ทาง กสม.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เพราะเรื่องร้องเรียนบางเรื่องยังไม่ได้มีการตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจริงหรือไม่อย่างไร
พล.ต.อ.วันชัยกล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการทำงานของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิกระบวนการยุติธรรมในปี 2555 นี้นั้นจะใช้หลักการทำงานขจัดต้นเหตุแห่งการละเมิดสิทธิ เปรียบเหมือนการขจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง จะไม่ตบยุงทีละตัว ซึ่งจะเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2555 เนื่องจากที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียน 2หน่วยงานดังกล่าวเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2554 ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการดำเนินงานในโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน : สถานีตำรวจ และเรือนจำ ขึ้นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา และ จ.พระนครศรีอยุธยาแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะติดปัญหาอุทกภัย โดยจะมีการจัดโครงการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติและประชาชนทั่วไป พร้อมกับให้คำแนะนำระมัดระวังปฏิบัติตามหลักกติกากฎเกณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถ้ามีการทำความเข้าใจกันแล้ว ตนเชื่อว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวก็จะลดลง หากเจ้าหน้าดำเนินการไม่ถูกต้องก็จะได้ทำความเข้าใจกันได้
นางอมรม พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีการโยกย้าย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงาน กสม.ระดับ 11 ทำให้ปัจจุบันตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน กสม.ว่างลงว่า สาเหตุของการโยกย้ายตำแหน่งของ นพ.ชูชัยนั้นเป็นการปรับวิธีการทำงาน เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และในขณะนี้ทาง กสม.ได้มอบหมายให้นายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการ กสม. ทำหน้าที่รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานกสม.ไปก่อน
ทั้งนี้ เชื่อว่าจะการทำงานภายในองค์กรจะไม่มีปัญหา ส่วนผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน กสม.นั้น ทาง กสม.จะต้องมีการประชุมหารือร่วมกันก่อนว่าจะใช้การคัดเลือกหรือเลื่อนลำดับ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะประชุมวันใด
รายงานข่าวจาก กสม.แจ้งว่า ขณะนี้ทางนางอมรายังไม่ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อหารือเรื่องตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน กสม.ที่ว่างลงอยู่ในขณะนี้ว่าจะ ดำเนินการอย่างไรต่อไป กสม.บางคนเห็นว่าการที่ให้นายวีรวิทย์ทำหน้าที่รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงาน กสม.ไปก่อนนั้น ก็ยังถือว่าไม่ใช่เลขาธิการสำนักงาน กสม.ตัวจริง แม้จะมีอำนาจเต็มที่ แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กรจะเกิดไม่มีความมั่นใจในการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ก็มี กสม.บางคนสนับสนุนให้นายวีรวิทย์เป็นเลขาธิการสำนักงาน กสม. เพราะเห็นมีคุณสมบัติเหมาะสมและทำงานภายในองค์กรมานาน