แจงรายละเอียด 3 กองทุน ภายใต้มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน “พันธมิตรฯสู้คดี-ทวงคืนเขาพระวิหาร-ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ” ย้ำ ใช้จ่ายเงินบริจาคจากประชาชนอย่างโปร่งใส เพื่อการต่อสู้ตามอุดมการณ์ของพันธมิตรฯ
วันที่ 25 ธ.ค.รายการ “สภาท่าพระอาทิตย์” ทางเอเอสทีวี ได้เปิดโอกาสให้ผู้รับผิดชอบดูแลกองทุนต่างๆ ที่ได้รับเงินบริจาคจากประชาชนเพื่อใช้ในกิจกรรมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำนวน 3 กองทุน ภายใต้มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน คือ กองทุนทวงคืนเขาพระวิหาร กองทุนพันธมิตรฯสู้คดี และกองทุนช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและญาติเสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุม ได้มาชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงินกองทุนในรอบปีที่ผ่านมา
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะผู้ดูแลกองทุนทวงคืนเขาพระวิหาร กล่าวว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ถือเป็นการชุมนุมของประชาชนครั้งแรกที่มีการเปิดเผยตัวเลขการรับบริจาค และการใช้จ่ายในการชุมนุมอย่างโปร่งใส สำหรับกองทุนทวงคืนเขาพระวิหาร มีกระบวนการคัดกรอง 3 ชั้น ก่อนที่จะใช้จ่ายออกไป สำหรับยอดเงินบริจาคของกองทุนนี้ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 หลังจากยุติการชุมนุมไปแล้ว มีทั้งสิ้น 79,318,853.32 บาท ใช้ไปทั้งสิ้น 76,023,446.72 บาท คงเหลือ 3,295,406 บาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในช่วงการชุมนุม 158 วัน (เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-กรฎาคม 2554) และการรณรงค์เรื่องโหวตโน ซึ่งก่อนที่จะมีการใช้เงินเพื่อการนี้ แกนนำได้ประกาศให้ผู้บริจาคทราบล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์แต่อย่างใด (ติดตามรายละเอียดได้ในวิดีโอคลิป)
ด้าน นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ ในฐานะผู้ดูแลกองทุนพันธมิตรฯสู้คดี กล่าวว่า กองทุนพันธมิตรฯสู้คดีเกิดขึ้นหลังจากพันธมิตรฯ เริ่มชุมนุมในปี 2548-2549 แล้วถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องร้องหลายคดีเพื่อหวังจะปิดปาก นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ไม่ให้พูด รวมแล้วการชุมนุมพันธมิตรฯ ช่วงแรกถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ฟ้องราว 58 คดี ส่วนการชุมนุมรอบที่ 2 โดนฟ้องอีก 100 กว่าคดี ซึ่งหลายคดีก็ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว พี่น้องพันธมิตรฯ เห็นว่า ควรจะตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ จึงมีการตั้งขึ้นมาโดยให้อยู่ภายใต้มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินเพื่อให้มีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างถูกต้อง โดยมีเงินเข้ามาในกองทุนนี้ประมาณ 20 กว่าล้านบาท ปัจจุบันเหลืออยู่ 2 ล้านกว่าบาท และยังมีเข้ามาเรื่อยๆ
นายสุวัตร กล่าวต่อว่า เงินส่วนใหญ่ในกองทุนนี้ใช้ในการประกันตัวแกนนำ นักวิชาการ การ์ด ที่ถูกดำเนินคดี รวมทั้งใช้ในคดีที่พันธมิตรฯ เป็นโจทก์ด้วย เช่น คดีแม่น้องโบว์ฟ้องตำรวจ หรือคดี ตี๋ ชิงชัย กองทุนนี้ก็ดูแลให้ ตลอดจนค่าธรรมเนียมศาลในคดีที่พันธมิตรฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ กรณีเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ส่วนค่าเดินทาง หรือค่าว่าความของทนายไม่เคยเบิก เพราะทีมทนายต่างทำด้วยจิตอาสาทั้งสิ้น ทั้งนี้ คดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ฟ้อง 50 กว่าเรื่อง เราชนะหมด แพ้เพียง 3 คดี และล่าสุด ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาแก้ไปแล้ว 1 คดี อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีอื่นๆ ที่ต้องสู้ต่อ ซึ่งแต่ละคดีกว่าจะจบใช้เวลาประมาณ 8 ปี (ติดตามรายละเอียดได้ในวิดีโอคลิป)
นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ในฐานะผู้ดูแลกองทุนช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุม กล่าวว่า กองทุนนี้จะดูแลหมดทุกคนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตระหว่างการชุมนุม และไม่เฉพาะเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ แต่ดูแลมาจนถึงเหตุการณ์ต่อเนื่อง รวมถึงพันธมิตรฯ ที่เสียชีวิตหลังจากการชุมนุม โดยรวมแล้วกองทุนช่วยเหลือไปทั้งสิ้น 1,005 ราย เป็นผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บโคม่า 2 ราย บาดเจ็บทั่วไป 36 ราย ที่เหลือเป็นบาดเจ็บปานกลางและเล็กน้อย ทั้งนี้ กองทุนได้รับเงินบริจาครวมดอกเบี้ยทั้งสิ้น 47,899,839.87 บาท ปัจจุบันยังเหลือ 495,733.27 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่ชมรมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโอนมาให้ดูแลประมาณ 2 แสนหนึ่งหมื่นบาท ทั้งนี้ นายพิภพ ได้มอบหมายให้ นางรัชนี ธงไชย ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เป็นผู้ดูแลการจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายในรายละเอียด ซึ่งนางรัชนีได้มาชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงินกองทุนในรายการนี้ด้วย (ติดตามรายละเอียดได้ในวิดีโอคลิป)
เรื่องเกี่ยวเนื่อง
ยอดรับบริจาคและค่าใช้จ่าย “กองทุนฯ ทวงคืนเขาพระวิหาร” (ตั้งแต่ 16/6/54)
ยอดรับบริจาคและค่าใช้จ่าย “กองทุนฯ ทวงคืนเขาพระวิหาร” (ตั้งแต่ 28/4/54)
ยอดรับบริจาคและค่าใช้จ่าย “กองทุนฯ ทวงคืนเขาพระวิหาร” (ตั้งแต่ 4/3/54)
ยอดรับบริจาคและค่าใช้จ่าย “กองทุนฯ ทวงคืนเขาพระวิหาร” (ตั้งแต่ 21/1/54)