xs
xsm
sm
md
lg

วาเคลฟ ฮาเวล ผู้นำแห่งการปฏิวัติกำมะหยี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วาเคลฟ ฮาเวล เป็นนักคิดนักเขียน เขาเขียนบทละคร เขียนเรียงความ เขียนกวี เป็นพลเมืองผู้ไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครองที่เป็นอยู่เป็นนักการเมือง เป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายของเชโกสโลวาเกีย และประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเชก ภายหลังสโลวาเกียแยกตัวเป็นประเทศอิสระในปี 2536

แต่โลกจดจำและยกย่องเขาในฐานะสัญญลักษณ์แห่งการต่อสู้กับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นและผู้นำการปฏิวัติกำมะหยี่ หรือ Velvet Revolution ที่เปลี่ยนระบบการปกครองของเชโกสโลวาเกียจากระบอบเผด็จการภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์มาเป็นระบบการเมืองเสรีแบบตะวันตกโดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ

การปฏิวัติกำมะหยี่ได้กลายเป็นศัพท์ทั่วไปทางการเมือง ที่หมายถึงการเคลื่อนไหวโดยสันติวิธีเพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชนผู้มีความคิดที่แตกต่างจากผู้ปกครอง คนที่ใช้คำนี้เป็นคนแรกคือ ริตา ไคลโมวา ล่ามภาษาอังกฤษชาวเชก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ และหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตประจำสหรัฐอเมริกา

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียตและประเทศบริวารในยุโรปตะวันออกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 หลังจากมิกาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตประกาศนโยบายผ่อนคลายอุดมการณ์ปล่อยให้ยุโรปตะวันออกมีอิสระในการเลือกเส้นทางเดินของตัวเอง ชัยชนะของพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์และฮังการี ความล่มสลายของเยอรมนีตะวันออกเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา จุดประกายการปฏิวัติกำมะหยี่ในเชโกสโลวาเกียที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของปี 2532

หนึ่งสัปดาห์หลังจากกำแพงเบอร์ลินพังทะลายลง นักศึกษาเชกได้รวมตัวกันต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ เรียกร้องระบบการเมืองใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม พวกเขาขอร้องให้ฮาเวลซึ่งเพิ่งออกจากคุกได้เพียง 6 เดือนเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

การชุมนุมเริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังสลายการชุมนุมของนักศึกษา ซึ่งยิ่งทำให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว มีการนัดหยุดงานทั่วประเทศ ขณะนั้นระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งปกครองประเทศมานาน 40 ปี อยู๋ในสภาพอ่อนแรง เสื่อมโทรม ไม่สามารถฝืนความเปลี่ยนแปลงได้ พรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกีย ต้องยอมสละอำนาจ พร้อมทั้งประกาศเลิกระบบการเมืองแบบพรรคเดียว มีการตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์ ต้นเดือนธันวาคมรั้วลวดหนามและสิ่งกีดขวางบริเวณพรมแดนติดกับออสเตรียและเยอรมนีตะวันตกถูกรื้อถอนทำลายทิ้ง ประธานาธิบดีกุสตาฟ ฮัสซาก ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 10 ธันวาคม ฮาเวลได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 29 ธันวาคม

ปรากฏการณ์ปฏิวัติกำมะหยี่ที่นาน 6 สัปดาห์ ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ เชโกสโลวาเกียสามารถก้าวข้ามระยะเปลี่ยนผ่านไปได้อย่างสันติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบอบคอมมิวนิสต์ยอมรับสภาพ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้นำอย่างฮาเวลซึ่งมีคติประจำตัวว่า ความจริงและความรักจักพิชิตความเท็จและความเกลียดชัง ได้หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพอย่างสันติอหิงสามานานกว่า 20 ปี

วาเคลฟ ฮาเวล เกิดเมื่อปี 2479 ในครอบครัวที่มีฐานะดี มีบิดาที่เป็นวิศวกร เขาจึงมีชีวิตที่สูขสบายในวัยเด็ก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เชโกสโลวาเกียอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียต กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เต็มตัว ทรัพย์สมบัติของครอบครัวฮาเวลถูกยึดเป็นของรัฐ ตัวฮาเวลซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 12 ปี ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพราะรัฐบาลเห็นว่าเขาคือชนชั้น“กฎุมพี” ไม่มีสิทธิได้รับการศึกษา ฮาเวลต้องหางานทำเป็นผู้ช่วยในห้องทดลองแห่งหนึ่ง แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ ใช้เวลาตอนกลางคืนศึกษาด้วยตัวเองจนกลายเป็นนักเขียนบทละครได้

กรุงปรากในปี 2511 เต็มไปด้วยความหวังถึงอนาคตที่ดีกว่าเมื่ออเล็กซานเดอร์ ดุบเชก เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกียใช้นโยบายปฏิรูป ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นมากขึ้น ผ่อนคลายการควบคุมสื่อ ฮาเวลซึ่งเป็นนักเขียนบทละครที่มีชื่อแล้วสามารถสอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีระบอบสตาลินลงในบทละครและความเรียงได้

อย่างไรก็ตาม ความหวังเป็นได้เพียงฝันข้ามคืนเท่านั้นเมื่อกองทัพสหภาพโซเวียตและพันธมิตรในกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอบุกเข้ากรุงปราก ในเดือนสิงหาคม โค่นล้มรัฐบาลยับยั้งการปฏิรูปที่กำลังดำเนินไปด้วยดี ท่ามกลางการลุกขึ้นต่อต้านด้วยสองมือเปล่าของชาวเชกที่เผชิญหน้ากับรถถังและกองทัพแดงอย่างกล้าหาญ เหตุการณ์ครั้งนั้นได้รับการเรียกขานว่า “การลุกขึ้นสู้ในฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก”(Prague Spring)

เชโกสโลวาเกียตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง บทละครข้อเขียนของฮาเวลและนักคิดนักเขียนคนอื่นๆ กลายเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งกลับทำให้เขามีความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านเผด็จการมากขึ้นผ่านงานเขียนที่เผยแพร่อย่างลับๆ โดยเฉพาะหลังจากการจับกุมสมาชิกของวงดนตรี “The Plastic People of the Universe”ในปี 2519 เขาร่วมกับกลุ่มปัญญาชนและศิลปิน ร่างคำประกาศกฎบัตร 77 (Charter 77) ที่มีเนื้อหา เรียกร้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพแก่ประชาชน โดยเฉพาะสิทธิที่จะคิดเห็นต่าง การเป็นอิสระจากความกลัว และสิทธิในการรับรู้-เผยแพร่ข้อมูลทุกประเภทโดยเสรี

การเคลื่อนไหวเพื่อเผยแพร่กฎบัตร 77 ทำให้ฮาเวลเป็นแกนนำของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไปโดยปริยาย และเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกคุมขังเป็นเวลานาน 5 ปี ระหว่างปี 2521-2526 เมื่อออกจากคุกเขายิ่งมีความมุ่งมั่นและพลังสร้างสรรค์มากขึ้นกว่าเดิม โดยลงมือเขียนบทละครการเมือง 3 เรื่องรวด และความเรียงปลุกเร้าการต่อสู้ของประชาชนอีกจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือเรื่อง Power of The Powerless

บทละครและข้อเขียนของฮาเวลเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายการเคลื่อนไหวอย่างสันติเพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ และค่อยๆ บ่มเพาะการปฏิวัติกำมะหยี่ให้เติบโตอย่างมีพลัง เขาได้ก่อตั้งกลุ่ม Civic Forum ซึ่งเป็นแนวร่วมเพื่อต่อต้านระบอบอำนาจนิยมในเชโกสโลวาเกีย ทำให้ถูกจับเข้าคุกช่วงสั้นๆ อีกครั้ง ก่อนจะถูกปล่อยตัวในฤดร้อนของปี 2532 และอีก 6 เดือนต่อมา เขาตอบรับคำเชิญของขบวนการนักศึกษาเป็นผู้นำ การปฏิวัติกำมะหยี่และสามารถนำเชโกสโลวาเกียเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอมมิวนิสต์ไปสู่ระบบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคได้สำเร็จโดยไม่เสียเลือดเนื้อ

ฮาเวลเป็นประธานาธิบดีของเชโกสโลวาเกียจนถึงเดือนกรกฎาคมปี 2535 ในช่วงนี้สโลวาเกียได้แยกตัวออกเป็นสาธารัณรัฐสโลวัก โดยที่เขาไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งได้ เขาลงรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเชก 2 สมัยคือในปี 2536 และ 2541 ก่อนที่จะยุติบทบาททางการเมืองในปี 2546

ฮาเวลมีสุขภาพที่ย่ำแย่มาตั้งแต่ปี 2539 หลังการเสียชีวิตของภรรยาคนแรก ต่อมาหมอตรวจพบว่าเขาเป็นมะเร็งปอดเนื่องจากสูบบุหรี่จัด จนต้องตัดปอดทิ้งข้างหนึ่ง และมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจมาโดยตลอด จนเสียชีวิตเมี่อวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาด้วยวัย 75 ปี

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้นเขาเพิ่งพบกับทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวธิเบต ซึ่งเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐเชกตามคำเชิญของฮาเวล เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายของสองผู้นำที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากระบอบการปกครองในประเทศของตน ฮาเวลเชิญทะไล ลามะไปเยือนกรุงปรากครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2533 หลังจากเขาได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีเชโกสโลวาเกียเพียง 2 เดือน และต่อมาอีก 20 ปีทั้งคู่ได้พบปะกันอย่างสม่ำเสมอ

ในจดหมายที่เขียนถึง Dagmar Havlova ภรรยาของฮาเวล ทะไล ลามะกล่าวว่าโลกได้สูญเสียรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของเขามีส่วนสำคัญในการนำอิสรภาพและประชาธิปไตยมาสู่เชโกสโลวาเกีย


กำลังโหลดความคิดเห็น