รากเหง้าความขัดแย้งสังคมไทย เหตุเกิดจาก“ทักษิณ”ซุกหุ้น พวกนักวิชาการเสื้อแดงสื่อเสื้อแดงชอบบิดเบือนว่าเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วเป็นปรากฎการณ์ที่มีสาเหตุสำคัญมาจากความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวย-คนจน คนกรุงเทพกับชนบท ไพร่กับอำมาตย์
ในรายงานความคืบหน้าของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งเป็นการรายงานการทำงานครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 17 มกราคม -16 กรกฎาคม 2554 กลับเห็นว่าตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ถึงการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี พ.ศ.2553 คอป.มีข้อสรุปว่า รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการที่ละเมิดหลักนิติธรรม กระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ทุกๆ อย่างมีความอ่อนแอและขาดประสิทธิภาพ จนนำไปสู่กระบวนการใช้อำนาจนอกระบบในการแก้ไขปัญหา โดยการรัฐประหารซึ่งเป็นการละเมิดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ซึ่งแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาแต่ในท้ายที่สุดกลับสร้างปัญหามากยิ่งขึ้น
รายงานฉบับนี้ ระบุว่า
“การละเมิดหลักนิติธรรมโดยกระบวนการยุติธรรมอันเป็นรากเหง้าของปัญหา เกิดจากกรณีของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2544 ในคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำ ผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 295 หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “คดีซุกหุ้น” ที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักแห่งกฎหมาย กล่าวคือ
ในทางหลักกฎหมายนั้นโดยทั่วไปในการวินิจฉัยคดีไม่ว่าของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลใดๆ ก็ตาม ศาลต้องตั้งประเด็นในประการแรกว่าคดีที่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดนั้นอยู่ในอำนาจของศาลหรือไม่ อันเป็นประเด็นในเรื่อง “เงื่อนไขให้อำนาจดำเนินคดี” (Prerequisite for prosecution) ซึ่งเป็น “เงื่อนไขที่ต้องพิจารณาก่อน” (prerequisite) และหากศาลเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแล้วประเด็นที่จักต้องวินิจฉัยต่อไปก็คือว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ อันเป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีใน “คดีซุกหุ้น”ดังกล่าวนี้แม้ศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นจักได้วินิจฉัยในประเด็น “เงื่อนไขให้อำนาจดำเนินคดี”(Prerequisite for prosecution) ซึ่งเป็น “เงื่อนไขที่ต้องพิจารณาก่อน” (prerequisite) ไว้ถูกต้องแล้ว
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 11 คนเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คนเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยก็ตาม
ในชั้นพิจารณาชี้ขาดในเนื้อหาของคดีนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 7 คน ได้วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ทำการซุกหุ้นจริง ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6 คน วินิจฉัยว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรไม่ได้กระทำผิดในข้อกล่าวหา แต่ที่น่าประหลาดก็คือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนอีก 2 คนที่เคยลงมติว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ลงไปวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดีแต่อย่างใด เท่านั้นไม่พอศาลรัฐธรรมนูญเองยังได้นำเอาคะแนนเสียง 2เสียงหลังนี้ไปรวมกับคะแนนเสียงจำนวน 6 เสียงที่วินิจฉัยว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้กระทำผิดในข้อกล่าวหาว่า “ซุกหุ้น” แล้วศาลรัฐธรรมนูญได้สรุปเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดยกฟ้อง
การปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวนี้จึงมีความไม่ชอบมาพากลที่ยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจได้ ทั้งบรรยากาศของบ้านเมืองในขณะนั้นดูจะไม่เอื้อต่อการที่จะทำความเข้าใจในหลักกฎหมายดังกล่าวนี้ด้วย เพราะกระแสสังคมในบ้านเมืองในระหว่างการดำเนิน“คดีซุกหุ้น”นั้น เป็นไปในทิศทางที่มีการคาดหวังในตัวบุคคลอย่างรุนแรงมากจนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเกิดหวั่นไหวเลยทีเดียว
การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ไม่วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดีก็ดี และการที่ศาลรัฐธรรมนูญเองได้นำเอาคะแนนเสียง 2 เสียงเข้าไปบวกรวมกับคะแนนเสียง 6 เสียงก็ดี เป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายโดยแท้ กล่าวคือ ทำให้เกิดความผิดพลาด 2 ประการ คือ เป็นความผิดพลาดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนที่ไม่วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดีซึ่งเท่ากับเป็นการไม่ทำหน้าที่ตุลาการของตน เพราะผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นจะไม่ทำหน้าที่ของตนไม่ได้โดยเด็ดขาด และยังเป็นความผิดพลาดของศาลรัฐธรรมนูญเองอีกด้วยที่ได้เอาคะแนนเสียง 2 เสียงไปรวมกับคะแนนเสียง 6 เสียงที่วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ทำให้ผลของคดีดังกล่าวนี้เป็นผลที่มีความไม่ชอบมาพากล เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 303 บัญญัติเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งว่า “จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ผลของการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน และศาลรัฐธรรมนูญโดยรวมดังกล่าวมานั้น จึงเป็นการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมาย อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงในหลักนิติธรรมของประเทศไทย
โดยที่ ตั้งแต่ได้เกิดการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมายขึ้นในคดีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาใน “คดีซุกหุ้น”เมื่อปี 2544 นั้น รัฐยังละเลยและไม่ได้เข้าไปตรวจสอบถึงรากเหง้าของความไม่ชอบมาพากลหรือความที่น่ากังขาของเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนั้น คอป.จึงขอเสนอแนะให้รัฐและสังคมได้ตรวจสอบการยึดถือปฏิบัติตาม”
ที่ผ่านมา คอป.ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและแกนนำเสื้อแดง เพราะต้องการใช้ คอป.ล้างภาพการใช้ความรุนแรงของคนเสื้อแดง ข้อเสนอของ คอป.ถูกนำไปใช้ต่อยอด ฉวยโอกาสเพื่อประโยชน์ของผู้ทำผิด เช่น การตั้งคณะกรรมการเพื่อเยียวยาคนเสื้อแดงที่ตายและบาดเจ็บ การแยกผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายออกมาอยู่ในเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ เป็นต้น
แต่ข้อสรุปของ คอป.ว่า คดีทักษิณซุกหุ้นทำให้สังคมไทยแตกแยกกัน อาจจะทำให้ คอป.ถูกยุบทิ้งในเร็ววันนี้ก็ได้