เฟซบุ๊กสถานทูตสหรัฐฯ ออกคำแถลงการณ์หวังสงบศึกเครือข่ายเฟซบุ๊กชาวไทย ยันยังเคารพสถาบันกษัตริย์ อ้าง “โอบามา-ฮิลลารี” ถวายพระพรในหลวง ในวโรกาส 84 พรรษา หยอดไทยเป็นมิตรประเทศที่เก่าแก่ที่สุด ลั่นเคารพกฎหมายไทย ไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่ตบท้ายมาแปลกหนุนแสดงออกเสรีภาพทั่วโลก อ้างเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์
วันนี้ (16 ธ.ค.) เฟซบุ๊ก US Embassy Bangkok ได้ขึ้นประกาศคำแถลงจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยระบุว่า ดังที่เอกอัครราชทูตเคนนีย์ ได้กล่าวแล้ว รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และวัฒนธรรมของประเทศไทยอย่างสูงสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านประธานาธิบดี โอบามา (นายบารัค โอบามา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคลินตัน (นางฮิลลารี คลินตัน) และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ประเทศไทยเป็นมิตรเก่าแก่ที่สุดในเอเชียของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ จะยังคงยืนเคียงข้างประชาชนไทยตลอดไป เราเคารพกฎหมายไทย และสำหรับเรื่องกิจการภายในของประเทศไทยนั้น สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดทั้งสิ้น สหรัฐฯ สนับสนุนให้มีเสรีภาพในการแสดงออกในทุกประเทศทั่วโลก และถือว่าเสรีภาพนี้เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์
ทั้งนี้ การออกคำแถลงดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเฟซบุ๊ก US Embassy Bangkok ได้มีสมาชิกเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นชาวไทยจำนวนมาก แสดงความคิดเห็นทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ แสดงความไม่พอใจกรณีที่ นายเดอรราจ์ พาราดิโซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายเอเชียตะวันออกของสหรัฐอเมริกา แสดงความวิตกกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมของไทย และการแสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ของ นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กรณีการตัดสินคดีของ นายโจ กอร์ดอน ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่า มีความกังวลต่อการตัดสินที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น แม้ภายหลังผู้ดูแลเฟซบุ๊ก US Embassy Bangkok ได้ขึ้นข้อความว่า “เรียนเพื่อนๆ ชาวเฟซบุ๊ก เรายินดีรับมุมมองและความคิดเห็นที่หลากหลายบนหน้าเฟซบุ๊กต่างๆ ของเรา เพียงแต่อยากขอให้เพื่อนๆ ทำความเข้าใจกับเงื่อนไขในการให้บริการเฟซบุ๊กของเรา และโปรดงดเว้นการใช้ภาษาที่หยาบคาย รุนแรง หรือข่มขู่” แต่ก็ยังมีสมาชิกเฟซบุ๊กเข้ามาโพสต์ข้อความแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของสหรัฐฯ เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้คนในรัฐบาลสหรัฐฯ จะอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และแสดงความเห็นห่วงกรณีการดำเนินคดีผู้กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ปรากฏว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการลงโทษผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2553 นายจอห์นนี่ โลแกน สเปนเซอร์ ชาวเคนตั๊กกี้ วัย 28 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ด้วยข้อหาข่มขู่นายบารัก โอบามา กรณีที่เขียนบทกวีซึ่งมีเนื้อหาบรรยายถึงการใช้ปืนสไนเปอร์ลอบยิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ
นายสเปนเซอร์ได้กล่าวคำขอโทษในศาลเมืองหลุยส์วิลล์ และให้การว่า ขณะที่เขาเขียนบทกวีนั้น เป็นช่วงที่กำลังเศร้าโศกเสียใจเพราะการเสียชีวิตของมารดาและได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มเชิดชูคนผิวขาว (white supremacist) ซึ่งช่วยให้เขาเลิกยาเสพติดได้
ทั้งนี้ ผู้พิพากษาโจเซฟ เอ็ช.แม็กคินลีย์ จูเนียร์ ได้ตัดสินว่าบทกวีของนายสเปนเซอร์คือสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งยวด จึงถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 33 เดือน และจะถูกคุมประพฤติอีก 3 ปีหลังพ้นโทษจำคุกแล้ว
สำหรับบทกวีของนายสเปนเซอร์ที่ชื่อ“สไนเปอร์”นั้นเคยถูกโพสต์ขึ้นเว็บไซต์แห่งหนึ่งเมื่อปี 2550 และถูกโพสต์ขึ้นอีกครั้งในปี 2552 หลังจากนายโอบามาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว
นอกจากนี้ยังมีกรณี วัยรุ่นชาวอังกฤษถูกห้ามเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาตลอดชีวิต หลังจากเรียกนายโอบามาเป็นอวัยวะเพศชาย
ทั้งนี้ สื่อมวลชนของอังกฤษได้รายงานเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 ว่า นายลุก แองเจล อายุ 17 ปี ชาวเมืองซิลโซ ในเบดฟอร์ดเชียร์ ได้ส่งอีเมล์ไปยังทำเนียบขาว หลังจากที่เขาได้ดูรายการทีวีเกี่ยวกับเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 พร้อมกับเรียกนายโอบามาในอีเมล์นั้นว่า “a prick” ซึ่งเป็นศัพท์สแลงมีความหมายถึงอวัยวะเพศชาย
อีเมล์ดังกล่าวถูกสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ ดักตรวจได้ จึงส่งข้อมูลให้ตำรวจอังกฤษทำการสืบสวนสอบสวนต่อ แม้ว่าจะไม่มีการดำเนินคดีกับเด็กวัยรุ่นชาวอังกฤษคนนี้ แต่เขาก็ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ
ซาราห์ วิลคินสัน โฆษกสำนักงานตำรวจเบดฟอร์ดเชียร์ บอกว่า อีเมล์ดังกล่าวเต็มไปด้วยภาษาที่ไม่เหมาะสมและข่มขู่คุกคามจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเธอบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่ทำอะไรโง่ๆ เท่านั้น
ขณะที่นายแองเจลยอมรับว่าได้ส่งอีเมล์ดังกล่าวออกไปขณะกำลังเมา และให้ปากคำต่อตำรวจว่า เขาจำไม่ได้ชัดเจนว่าได้เขียนอะไรลงไปบ้าง นอกจากนี้ยังให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องที่เขาถูกห้ามเข้าสหรัฐฯ ว่า เขาไม่สนใจ แม้ว่าพ่อแม่เขาไม่ค่อยมีความสุขนักกับเรื่องที่เกิดขึ้น