รองโฆษกประชาธิปัตย์แจงกรณีเรียกร้องปิดยูทิวบ์-เฟซบุ๊ก เป็นมาตรการสุดท้าย ให้รัฐบาลเอาไว้่ขู่ หากหมดปัญญาจัดการเว็บหมิ่น โอดถูกตัดตอนข้อความปลุกกระแสต้าน ยันไม่หยุดเคลื่อนไหว ด้าน “กรณ์” เปิดเแฟนเพจ FightBadWeb กดดันรัฐบาลปราบเว็บผิดกฎหมาย ส่ง “ศิริโชค” ประกบ “มัลลิกา” ตามจี้ ก.ไอซีที จัดการ
วันนี้ (28 พ.ย.) นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก Mallika Boonmeetrakool ในฐานะหัวหน้าชมรมนักรบไซเบอร์ และผู้รับผิดชอบการร้องเรียนเว็บผิดกฎหมายที่รัฐบาลไม่ดำเนินการ กรณีที่ได้แถลงข่าว เตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ รมว.ไอซีที เพื่อขอให้ปราบปรามเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่มีบุคคลบางกลุ่มตัดตอนข้อความในลักษณะที่ว่าตนขอให้ปิดเว็บไซต์ยูทิวบ์ หรือเฟซบุ๊ก ไปเลย และอีกฝ่ายหนึ่งก็นำข้อความดังกล่าวไปใช้สร้างกระแสต่อต้านการเคลื่อนไหวของตน
น.ส.มัลลิกาชี้แจงว่า เบื้องต้นได้อธิบายผ่านทวิตเตอร์ @MallikaBoon และหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว เนื่องจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย นำไปตกแต่งสร้างเรื่องให้คนเข้าใจไม่ครบถ้วน ซึ่งก่อนอื่นต้องขอบคุณทุกความเห็น แต่ก่อนที่ใครจะแสดงออกกรุณาอ่านให้ครบทุกข้อความ
น.ส.มัลลิการะบุอีกว่า กรณีของการโพสต์ข้อความ “force แล้วถ้าไม่จบจึง ban ผู้นำต้องคิด” นั้นเป็นมาตรการต่อรอง สำหรับผู้นำที่อ้างว่ายากและหมดปัญญา ซึ่งในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้ ในเนื้อข่าวที่แถลง รวมทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของตน ใช้คำว่าถ้า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที อ้างว่า ยากและหมดปัญญาเช่นนั้นก็ใช้ยาแรง แบนเว็บ หากเขาไม่ให้ความร่วมมือคุณ การที่ผู้นำเต็มไปด้วยข้ออ้างแต่แท้จริงแล้วข้างหลังผู้นำมีมือโพสต์หมิ่นยืนประกบอยู่ข้างหลัง ตามที่เปิดประเด็นไปนั้น สิ่งใดที่จะทำให้ผู้นำหาข้ออ้างไม่ได้
“จุดยืนไม่ใช่เรื่องให้ไปปิดยูทิวบ์ เฟซบุ๊ก แต่เป็นมาตรการขู่ที่ผู้นำประเทศต้องนำไปใช้เพื่อต่อรองนั้น คือ ฟอร์ซ (บังคับ) ถ้าไม่จบจึงแบน (ห้าม) ผู้นำต้องคิด เป็นทางเลือกสุดท้ายหากรัฐมนตรีบอกว่ายากและหมดปัญญา” น.ส.มัลลิกากล่าว
ทั้งนี้ รายละเอียดตามทวิตเตอ ร์@MallikaBoon มีลำดับเป็นข้อๆ ดังนี้ คือ
1.การใช้มาตรการแต่ละระดับ คือ กลยุทธ์ผู้นำในการจริงจังต่อการแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาเว็บหมิ่นต้องรู้ต้นตอแห่งปัญหาต้นตอมีแค่ 2 อย่าง
2.ต้นตอ 2 อย่าง คือ คนตั้งใจทำลายกับช่องทางการใช้ทำลาย เมื่อเจอตอเจอเชื้อโรคแล้วก็ต้องหายามารักษาหรือหามาตรการมาแต่ละระดับ
3.การเป็นผู้นำคนผู้นำประเทศต้องใช้ทักษะเป็นกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ขอแค่คุณตั้งเป้าหมายไว้หรือยัง? มีเป้าหมายหรือไม่ว่าจะขจัดปัญหา
4.ถ้าเป้าหมายคือ การขจัดออกให้สำเร็จ คุณต้องกำหนดกรอบและระยะเวลาเพื่อคนทำงาน ซึ่งคือราชการจะได้เดินหน้าตามเป้าหมายในคำสั่งนั้น!
5.ไล่ตั้งแต่สืบค้น ตรวจจับ ส่งสำนวนสู่ศาล นี่สำหรับบุคคลกระทำผิด! ส่วนผู้ให้บริการ (บริษัท) เว็บนั้นๆ ต้องเชิญมาประชุมขอความร่วมมือและเซนเซอร์
6.หากผู้ให้บริการขาดจริยธรรมปล่อยให้เพจ หรือ URL ของคุณละเมิดและผิดกติกากับกฎหมายก็ส่งหลักฐานเสนอชั้นศาลปิดไป อยู่ในสังคมก็ต้องเคารพกติกา
7.ทีนี้สำหรับกรณีที่ผู้นำหมดปัญญา นั่นคือ อ้างว่า มันยากเพราะเจ้าของเว็บอยู่ต่างประเทศซึ่งหมายถึงยูทิวบ์ กับเฟซบุ๊กที่ระบาดหนักช่วง 3 เดือนนี้
8.เช่นนั้นแล้วมาตรการ คือ ผู้นำต้องประสานผู้นำประเทศเขาแล้วเอาผู้ให้บริการประเทศนั้นเข้ามาร่วมองค์เจรจา ขอความร่วมมือระหว่างกันให้เหตุผลไป
9.มันยากและไม่สำเร็จใช่ไหม? ก็มาตรการสุดท้ายให้ยาแรงคือมาตรการต่อรองแลกเปลี่ยนก่อนการยื่นจาก force แล้วไม่จบจึง ban ผู้นำต้องคิดและนำไปขู่เขา
10.อย่าดัดจริต ถ้าคิดจะเด็ดขาด!! ขบวนการทำลายไปไกลขนาดใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีจนฝรั่งงง! อย่าเอ่ยคำว่า “รักท่าน” แล้วใช้คำว่า “ยาก” !!
ทั้งหมดจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที ต่อการแก้ไขปัญหาเว็บไซต์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กชื่อดัง ซึ่งระบาดหนักช่วงหลังการเปลี่ยนรัฐบาลตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงปัจจุบัน โดย น.ส.มัลลิกา จะนำเสนอพร้อมข้อมูลลิงก์ หรือเพจ (URL) ของเว็บไซต์ผิดกฎหมายประมาณ 200 ชื่อ ที่รับเรื่องร้องเรียนมาจากกลุ่มผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ไม่มั่นใจต่อการแก้ไขปัญหานี้ของรัฐบาล
นอกจากนี้ น.ส.มัลลิกายังย้ำว่า จะไม่หยุดต่อสู้เรื่องนี้ แม้จะถูกกลุ่มคนที่น่าจะเป็นขบวนการส่งเสริมการลบหลู่ จาบจ้วงสถาบัน ตั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กชื่อปลอมจำนวนมาก โดยคนหนึ่งใช้ไอแพดเครื่องเดียวแต่มีเป็น 4-5 ชื่อที่ใช้เล่นทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก มาโพสต์ก่อกวนด้วยคำหยาบคายในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของตน รวมทั้งโทรศัพท์ก่อกวนที่เข้ามามากขึ้นทุกวัน แต่เป็นประเภทโทร.มาด่าแล้ววาง
ดังนั้น ชมรมนักรบไซเบอร์จะเดินหน้าต่อไปเมื่อใครเจอเว็บไซต์หมิ่น หรือผิดกฎหมาย ให้โทรศัพท์ไปที่กระทรวงไอซีที หมายเลข 1212 หรือเว็บไซต์กระทรวง หากเว็บนั้นยังคงอยู่ให้แจ้งมาที่อีเมลของชมรมนักรบไซเบอร์ที่ FightBadWeb@gmail.com เพื่อให้ตนติดตามต่อ โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานคอมพิวเตอร์ช่วยรับเรื่องและนำไปดำเนินตามกระบวนการของกฎหมาย
ขณะเดียวกัน นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความในหน้าเฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij โปรโมตโครงการของพรรคประชาธิปัตย์ คือ FightBadWeb โดยระบุว่า ระยะหลังนี้มีเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้นมาก และไม่มีท่าทีที่จะมีการดำเนินการใดๆ โดยรัฐบาล ดังนั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้สร้างช่องทางการติดตามกดดันให้ทางรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้อย่างเต็มที่มากขึ้นด้วยการสร้างเฟซบุ๊ก FightBadWeb ที่เว็บไซต์ http://www.facebook.com/FightBadWeb โดยจะมีนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา รมว.ไอซีทีเงา และ น.ส.มัลลิกา จะเป็นผู้คอยติดตามว่า กระทรวงไอซีทีมีการดำเนินการอย่างเต็มที่หรือไม่