“ภักดี” ลุ้นระทึก หลังวุฒิฯ เร่งแก้ข้อบังคับเปิดทางสอบต่อสมัยนิติบัญญัติ หากผ่านเรียก 2 ฝ่ายแจง-ให้ กมธ.ซักเพิ่ม เปิดทางยื่นหลักฐานใหม่ได้ สุดท้ายลุ้นลงมติหากครบ 3 ใน 4 ของเสียง ส.ว.ทั้งหมด เก้าอี้หลุดสมใจ “เด็กเจ๊หน่อย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีวาระการพิจารณาเรื่องด่วนกรณี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในสมัยที่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านและคณะ ยื่นคำร้องให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปราการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ต่อจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) ไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม โดยวิปวุฒิฯ ได้เสนอร่างบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างขั้นตอนการปฏิบัติ ในการนำข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 หมวด 6 ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญมาเทียบเคียง เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการของวุฒิสภา เพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช.พ้นจากตำหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 248
ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้ ให้ประธานวุฒิสภาส่งสำเนาคำร้อง และสรุปสำเนารายงานของคณะกรรมาธิการสามัญสอบข้อเท็จจริงให้สมาชิก ผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง เพื่อศึกษาล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน จากนั้นให้ประธานนัดประชุม ภายใน 20 วัน เพื่อกำหนดวันแถลงของผู้ร้องและผู้ถูกร้อง และเพื่อพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานนอกเหนือจากที่ให้ไว้แล้วในชั้นกรรมาธิการสามัญ ผู้ร้องและผู้ถูกร้องอาจยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 5 วัน ในการพิจารณานัดแรก การพิจารณาให้พิจารณาโดยเปิดเผย ในกรณีที่พิจารณาลับให้มีเฉพาะสมาชิก และคู่กรณีเท่านั้นที่อยู่ในที่พิจารณา การพิจารณาให้ใช้รายงานของกรรมาธิการสามัญเป็นแนวทางประกอบการพิจารณา โดยให้พิจารณาหลักฐานและเหตุผลตามที่ระบุข้อกล่าวหาเป็นข้อๆ โดยผู้ร้องและผู้ถูกร้องขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอญัตติเกี่ยวกับประเด็นซักถามที่จะดำเนินการซักถาม โดยคณะกรรมาธิการซักถามล่วงหน้า จำนวน 7 คน
ในการเริ่มพิจารณาให้ผู้ร้องหรือผู้ได้รับมอบหมายมีสิทธิแถลงเปิดคำร้อง จากนั้นให้ผู้ถูกร้องหรือผู้แทนมีสิทธิแถลงปิดคำร้อง เมื่อแถลงเสร็จให้ที่ประชุมพิจารณาว่าควรมีประเด็นซักถามประเด็นใดเพิ่มเติม โดยให้พิจารณาจากญัตติที่สมาชิกเสนอล่วงหน้า การซักถามให้อยู่ในกรอบและประเด็นคำถามที่วุฒิสภากำหนด โดยในการซักถามให้ถามโดยกรรมาธิการซักถามเท่านั้น ทั้งนี้กรรมาธิการซักถามสามารถถามต่อเนื่องได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบประเด็นคำถามที่กำหนดไว้แล้ว ผู้ร้องและผู้ถูกร้องมีสิทธิแถลงปิดคำร้องและแถลงคำโต้แย้งคำร้อง โดยสามารถยื่นคำแถลงปิดคำร้องหรือคำโต้แย้งคำร้องเป็นหนังสือได้ ทั้งนี้ให้มีการนัดหมายให้วุฒิสภาลงมติหลังจากวันแถลงปิดคำร้อง 5 วัน โดยการลงมติให้ทำโดยการลงมติให้ทำโดยวิธีลับ การลงมติถอดถอนต้องมีคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาได้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณาพร้อมกันทั้ง 3 วาระ โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างฯ ด้วยคะแนนเสียง 74 ต่อ 1 เสียง โดยหลังการลงมติ ประธานได้แจกเอกสารให้สมาชิก ประกอบด้วย รายงานของกรรมาธิการสอบข้อเท็จจริง 52 แผ่น สำเนาคำร้องของ น.อ.อนุดิษฐ์ และคณะ 210 แผ่น สำเนาหนังสือชื่อแจงของ นายภักดี 254 แผ่น ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปวุฒิสภาจะต้องขออนุญาตต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เพื่อให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการถอดถอน ป.ป.ช.ในสมัยสามัญนิติบัญญัติได้