xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์” ลั่นปีหน้าไร้กระสอบทราย ผุดพนังกั้นน้ำถาวรแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์(ภาพจากแฟ้ม)
กยน.ตั้งกรรมการ 2 ชุดเล็ก “กิตติพงศ์ พึ่งบุญฯ” คุมภารกิจเร่งด่วนแก้น้ำท่วม “กิจจา ผลภาษี” วางระบบระยะยาว “กิตติรัตน์” แย้มปีหน้าจะไม่เห็นแนวกระสอบทรายอีกต่อไป แต่จะสร้างพนังกั้นน้ำถาวรในจุดที่จำเป็นแทน พร้อมวางยุทธศาสตร์ 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

วันที่ 22 พ.ย. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ 1.คณะอนุกรรมการที่มีภารกิจดำเนินการเร่งด่วนทันที โดยมีนายกิตติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการที่มีภารกิจวางระบบระบายน้ำอย่างยั่งยืน โดยมีนายกิจจา ผลภาษี กรรมการ กยน.เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้องค์กรระหว่างประเทศคือไจก้า เข้ามาเป็นที่ปรึกษา

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีการเน้นการทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะฤดูฝนหน้าที่กำลังจะมาถึงจะต้องวางระบบป้องกันอุทกภัยอย่างดี ดังนั้นจะไม่มีกระสอบทรายวางเป็นแนวพนังกั้นน้ำอีกต่อไป แต่จะมีการสร้างพนังกั้นน้ำแบบถาวรในบางจุดที่มีความจำเป็น สำหรับการวางระบบระยะยาวคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ทำงานเฉพาะปัญหาอุทกภัยปี 54 นี้เท่านั้น แต่จะวางยุทธศาสตร์และระบบดูแล 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

รองนายกฯ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญคือการวางผังเมือง จะต้องสอดคล้องกับการวางยุทธศาสตร์ของ กยน.ดังนั้นการเสนอโครงการก่อสร้างใหม่จะต้องไม่ขวางทางระบายน้ำ ซึ่งขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เตรียมเสนอการวางโครงสร้างผังเมืองใหม่ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะกรรมการ กยน. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารือว่าสมควรใช้ทำเนียบรัฐบาล หรือสำนักงาน ก.พ.ในการใช้เป็นสถานที่ทำงานของ กยน. และการทำงาน 1 เดือนจากนี้ไปจะมีการศึกษาจุดอ่อน และจุดแข็งที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมาได้อย่างเร่งด่วน เช่น การสร้างหรือขยายประตูระบายน้ำ การขุดรอกคูคลอง การเสริมพนังกั้นน้ำ และการติดตั้งสถานีสูบน้ำ ซึ่งต้องเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการวางระบบในระยะยาวคาดว่าจะขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศในการเพิ่มและพัฒนาศักยภาพ เครื่องมือพยากรณ์ภูมิอากาศให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น และในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น