xs
xsm
sm
md
lg

เผย “ปู” กำชับ ครม.ห้ามปากโป้ง-โวประชุมอาเซียนสำเร็จงดงาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
“ฐิติมา” เผยนายกฯ กำชับ รมต.อย่าเพิ่งพูด ถ้าเรื่องใดยังไม่เป็นมติ ก่อนทำทีถาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ อ้างยังเป็นความลับ เปิดเผยเนื้อหาไม่ได้ ยันไม่เอื้อประโยชน์ใคร โวบินประชุมอาเซียนสำเร็จงดงาม สมาชิกรับลูกความร่วมมือป้องกันอุทกภัย

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 22 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับรัฐมนตรีในที่ประชุม ครม.ว่าถ้าเรื่องใดยังไม่เป็นมติ ครม.ขอให้รัฐมนตรีอย่าเพิ่งออกมาแถลงใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นนายกฯ ได้สอบถามถึง พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ที่ ครม.ประชุมลับในคราวที่แล้วและส่งเรื่องต่อให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณา และพิจารณาเรียบร้อยแล้ว เนื้อหาสาระต่างๆ เป็นไปตามกฎหมาย แนวทางปฏิบัติที่ได้เคยมีการทำกันมาโดยตลอด เพียงแต่เนื้อหาสาระยังคงต้องเป็นความลับอยู่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในพระราชอำนาจองค์พระมหากษัติริย์ รัฐบาลไม่อาจก้าวล่วง หรือผู้ใดก็ไม่ควรไปละเมิดสถาบัน ดังนั้น เรื่อง พ.ร.ฎ.อภัยโทษก็จบลงที่ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคลหนึ่ง โดยขั้นตอนต่อไปก็จะต้องส่งให้นายกฯ ลงนาม ก่อนกราบบังคมทูล

นางฐิติมากล่าวว่า นายกฯ ได้หยิบยกเรื่องน้ำท่วมขึ้นมารือใน ครม. โดยกำชับให้ ครม.ลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยเหลือเยียวยาให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิม โดยจะมีคำสั่งออกมาถึง ครม.ต่อไป ขณะเดียวกัน นายกฯ ได้อธิบายถึงการเดินทางไปประชุมอาเชียนซัมมิต ที่ประเทศอินโดนีเซียว่า การไปคราวนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จมาก เพราะสมาชิกทุกประเทศให้ความสนใจในสิ่งที่ไทยเสนอ โดยเฉพาะเรื่องแถลงการณ์ว่าด้วยความร่วมมือทางด้านป้องกันอุทกภัย การลดผลกระทบ การบรรเทา ฟื้นฟู บูรณะ ที่ไทยเป็นผู้ริเริ่ม ถือเป็นครั้งแรกที่เสนอโดยสมาชิกอาเชียนแล้วได้รับการพิจารณาตอบรับอย่างรวดเร็วภายใน 7 วันเท่านั้น ซึ่งไทยได้แสดงบทบาทการเป็นผู้นำอาเชียนอีกครั้งหนึ่ง เรื่องน้ำท่วมมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และอาหารมาก ซึ่งอาเชียนทราบดีว่าไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ ทั้งรถยนต์ ชิ้นส่วนต่างๆ และอาหาร จึงถือว่าเรื่องนี้มีความจำเป็น ไทยจึงได้ทำการเซ็นเอ็มโอยูกับประเทศอินโดนีเซีย ในเรื่องเกี่ยวกับข้าว ซึ่งถือเป็นความมั่นคงในการส่งออกข้าวของไทยด้วย

นอกจากนี้ ต่างประเทศยังให้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในการรักษา หรือปลูกป่า นายกฯ จึงให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ดูแลร่วมกับกระทรวงพลังงาน ให้รณรงค์ปลูกป่ากันต่อไป

นางฐิติมากล่าวว่า ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้ากษัตริย์จิกมี นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน และพระราชินี ซึ่งกษัตริย์จิกมีจะส่งพระธาตุเขี้ยวแก้วให้รัฐบาลไทย และจะให้กระทรวงวัฒนธรรม กับกระทรวงการต่างประเทศประสานงานเพื่อจะได้นำพระธาตุเขี้ยวแก้วมาประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ สนามหลวง

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เจอกับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนางฮิลลารีสนใจโบราณวัตถุเป็นอย่างยิ่ง จึงยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ

นางฐิติมาแถลงอีกว่า ครม.เห็นชอบการขออนุมัติงบกลางเพื่อให้จังหวัด และส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐใช้จ่ายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงเฉพาะหน้าก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ทางจังหวัดสามารถเข้ามาสนับสนุนการช่วยเหลือแก่จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม และ 22 เขตใน กทม.ที่อยู่ในรูปแบบหนึ่งจังหวัดต่อหนึ่งเขต กทม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครม.จึงเห็นชอบอนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 รายการงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นจำนวน 2,650 ล้านบาท ไปพลางก่อน ซึ่งแบ่งเป็นสองตอนใหญ่ๆ คือ 1.เงินจัดสรรให้จังหวัดที่กระทรวงมหาดไทยมอบหมาย หนึ่งจังหวัดต่อหนึ่งเขต กทม.รวมกับจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม รวมทั้งสิ้น 25 จังหวัด งบประมาณจังหวัดละ 50 ล้านเป็นเงินทั้งสิ้น 1,250 ล้านบาท 2.งบประมาณ 1,400 ล้านบาท จัดสรรให้ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายจาก ครม.หรือนายกฯ โดยให้ใช้จ่ายสำหรับความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย และให้จังหวัด รวมทั้งส่วนราชการใช้จ่ายในเหตุเฉพาะหน้าก่อน โดยจะต้องควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณอื่นใดของทางราชการ

นางฐิติมา แถลงผลการประชุม ครม.ถึงเรื่องแผนงานการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดว่า เรื่องนี้ ครม.เห็นชอบในหลักการตามแผนงานของโครงการงบประมาณ จำนวน 58 จังหวัด นี้คือเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรมการเพิ่อให้การช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย หรือ กฟย.ให้ความเห็นชอบตากรอบแผนงานทั้ง 3 ด้าน คือ 1 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน 3 ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่า มอบหมายให้คณะกรรมการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์อุทกภัยด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือ กคถ.และคณะกรรมการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมความเป็นอยู่หรือ กสอ. และสุดท้ายคณะกรรมการ ที่ได้รับผลกระทบคุณภาพชีวิต กคช. รวมทั้งสำนักงบประมาณ ไปเพื่อพิจารณาตรวจสอบความเหมาะสมของโครงการ งบประมาณ และบูรณาการเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดย ครม.ได้พิจารณาราบละเอียดตามกรอบ 5 ประการคือ 1 เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูผู้เสียหาย ให้กลับคือสู่สภาพเดิม 2 ต้องไม่เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกับภาระกิจพื้นที่หรืองบประมาณจากแหล่งอื่น 3.เป็นโครงการที่มีลักษณะที่ทำสำเร็จได้เร็ว 4.โครงการที่เสนอต้องมีความพร้อมที่จพดำเนินการได้ทันทีตั้งแต่วันที่ได้รับการอนุมัติ และแล้วเสร็จภายใน 1 ปี 5 มีความคุณค่าและประโยชน์ที่จะได้รับอย่างแท้จริง แต่ทั้งนี้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของกรอบ แต่ยังไม่มีการอนุมัติแต่อย่างใด ซึ่งต้องมีการกลั่นกรองจากภายในสำนักงบประมาณ เพื่อเข้าสู่ ครม.อีกครั้งหนึ่งอีกที
กำลังโหลดความคิดเห็น