ศปภ.ระบุ กลางเดือน ธ.ค.น้ำท่วมขังหลายพื้นที่จะกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนป้ญหาชาวนนทบุรี ไม่พอใจน้ำท่วมนาน ให้ “พงศพัศ-อานนท์” เจรจา “วรรณรัตน์” เผย สถานการณ์น้ำในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ คลี่คลาย
ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กระทรวงพลังงาน วันนี้ (22 พ.ย.) นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่สาธารณภัยร้ายแรง กล่าวว่า คาดการณ์ว่า น้ำที่ท่วมขังในหลายพื้นที่น่าจะลดลง และกลับคืนสู่สภาวะปกติประมาณกลางเดือน ธ.ค.เมื่อถามว่า ในปีหน้าจะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นนี้อีกหรือไม่ นายอานนท์ กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณใดที่บอกว่าน้ำจะมากเหมือนปีนี้ อย่างไรก็ตามปัญหาน้ำท่วมขังในขณะนี้ส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างถนน สิ่งปลูกสร้างบ้านจัดสรร สนามบิน เพราะขวางทางน้ำ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการแก้ไข
ด้าน นายธงทอง จันทรางศุ โฆษก ศปภ.กล่าวถึงกรณีที่ชาวบ้านใน จ.นนทบุรี เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ว่า เป็นหน้าที่ของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษก ศปภ.กับ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จะต้องทำงานร่วมกัน โดย พล.ต.อ.พงศพัศ จะทำหน้าที่เจรจากับชาวบ้านในพื้นที่ ส่วน นายอานนท์ ทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์น้ำเพื่อหาทางออกให้กับประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ศปภ.จะบริหารจิตใจคนที่ออกมาประท้วงอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในหลายพื้นที่ นายธงทอง กล่าวว่า ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน แม้จะมีผู้ได้รับผลกระทบมากก็ตาม แต่ก็ขอให้หารือร่วมกันก่อนเพื่อหาทางออก
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม ระบุถึงการกู้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ว่า สถานการณ์ที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ขณะนี้คลี่คลายตามลำดับ ระดับน้ำบริเวณคันกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมลดลง และได้ยกเลิกการประกาศแผนฉุกเฉินที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว และบางโรงงานเริ่มกลับมาเดินเครื่องการผลิตแล้ว
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ มี 29 โรงงานกลับมาเดินเครื่องการผลิตแล้ว คาดว่า ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ถึงต้นเดือนมกราคม โรงงานต่างๆ น่าจะเดินเครื่องได้ครบ ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จะมีทหารจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้ามาดูแลการกู้นิคม และจะมีการเจาะถนนระบายน้ำ คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 15 วัน จึงจะเริ่มสูบน้ำออกจากนิคมฯได้
นอกจากนั้น ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินบางส่วน จะเริ่มเดินเครื่องจักรได้ และนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี จะเริ่มสูบน้ำออกจากพื้นที่ โดยในวันที่ 30 พฤศจิกายน นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค น้ำน่าจะแห้งและเริ่มทำความสะอาดพื้นที่ได้ คาดว่า ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมเป็นต้นไป โรงงานบางส่วนในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งน่าจะเริ่มเดินเครื่องจักรได้