ผอ.ศปภ.ยืนยัน กทม.ชั้นในปลอดภัยจากน้ำท่วมแล้ว จ่อรื้อคันบิ๊กแบ็กเพิ่มขึ้น โยน “กก.ระบายน้ำ-กทม.” พิจารณาเปิด 4 ประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์
วันนี้ (22 พ.ย.)ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม.ว่า ขณะนี้ กทม.ชั้นในปลอดภัยแล้ว กระสอบทราย และบิ๊กแบ็กก็สามารถที่จะรื้อได้แล้ว ส่วนการจะทำอย่างไรให้พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังน้ำนั้น รัฐบาลพยายามคิดหาวิธีระบายน้ำออกอยู่ เรื่องของบิ๊กแบ็กเป็นคุณมหาศาลเพราะทำให้น้ำไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ กทม.ชั้นในได้ แต่ขณะเดียวกันประชาชนที่อยู่เหนือคันบิ๊กแบ็กก็ประสบน้ำเน่าเสีย ตนก็พยายามที่จะแก้ไขส่วนนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งวันนี้ได้มีการรื้อบิ๊กแบ็กเพิ่มขึ้น เช่น ที่แจ้งวัฒนะ เพราะจะไปกีดขวางการจราจรเปล่าๆ น้ำคงไม่เข้ามาแล้ว ตอนนี้รัฐบาลคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้น้ำที่ท่วมขังลดลงโดยเร็วที่สุด เพราะประชาชนหลายพื้นที่ต้องทนทุกข์อยู่กับน้ำเน่าเสีย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเรียกร้องของชาวนนทบุรีให้เปิดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ทั้ง 4 ประตู พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า จากการประชุมเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า ขอให้กทม.และคณะกรรมการระบายน้ำของ ศปภ.ไปพิจารณาเรื่องการเปิดประตูน้ำ เช่น บริเวณคลองมหาสวัสดิ์ ที่ชาวบ้านร้องขอมานั้นจะสามารถเปิดประตูน้ำระดับ 1 เมตรได้ทั้ง 4 ประตูหรือไม่ ถ้าเปิดแล้วไม่กระทบก็จะให้เปิด โดยจะให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการระบายน้ำและกทม.คาดว่าวันนี้จะเริ่มเปิดได้มากขึ้น
เมื่อถามว่า หากเปิดคลองมหาสวัสดิ์จะทำให้น้ำเข้าในพื้นที่ถนนบรมราชชนนีได้ พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ คือเป็นคนที่อยู่บริเวณใต้น้ำและเหนือน้ำ คือคนเหนือน้ำที่อยู่บริเวณคลองมหาสวัสดิ์อยากให้เปิดคลอง เปิดประตูระบายน้ำ 1 เมตร แต่ขณะเดียวพุทธมณฑลสาย 5 หรือเพชรเกษม ก็คัดค้านว่าให้เปิดประตูน้ำน้อยลง เพราะน้ำอาจจะไปท่วมหนักขึ้นอีก ซึ่งคณะกรรมการน้ำต้องพิจารณาและหาความสมดุลให้มากที่สุดว่าจะต้องมีการตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเท่าไหร่เพื่อที่จะสามารถเร่งน้ำได้เร็วที่สุด เพราะหากน้ำไม่ไปทางนี้คงไม่มีทางไปแล้ว ส่วนพื้นที่เมืองเอกนั้นก็มีการพูดคุยกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรจากเมืองบาดาลเป็นเมืองบนบกธรรมดา ทุกขั้นทุกตอนเราจะทำในทุกจุด ทั้งนี้ข้อสรุปเรื่องเงินชดเชยเยียวยาพิเศษนั้น ต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง และเป็นคณะกรรมการที่พิจาณาก็เป็นคนละชุดกัน ส่วนจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรนั้นต้องรอข้อสรุปที่ ศปภ.ก่อนแล้วจึงนำเข้าที่ประชุม ครม