xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เผยภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมดีขึ้น หลายจังหวัดสู่โหมดฟื้นฟู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  (แฟ้มภาพ)
นายกรัฐมนตรีเผยภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมดีขึ้น หลายจังหวัดภาคกลางเข้าสู่โหมดฟื้นฟู ขณะที่ กทม. มวลน้ำวิภาวดี-พหลฯ ลดลงหลังวางบิ๊กแบ็ก พร้อมสั่งกรมชลฯเร่งระบายน้ำเหนือบิ๊กแบ็กช่วงน้ำทะเลไม่หนุนสูง ยืนยันเร่งเยียวยา 30 เขต กทม.ควบคู่เยียวยาประชาชน 36 จังหวัดประสบอุทกภัย ขอบคุณ “ดร.สุเมธ-ดร.วีระพงศ์” ร่วมแก้ไขปัญหาประเทศ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลายจังหวัด เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จะมีน้ำท่วมขังอยู่บ้างในในทุ่ง ซึ่งในส่วนของของจังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ได้จัดให้มีการบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ทำความสะอาดเมืองหลังน้ำลด โดยมีการระดมกำลังประชาชน นักท่องเที่ยวมาช่วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ ซึ่งตนได้มีโอกาสไปร่วมที่จังหวัดนครสวรรค์ และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นการฟื้นฟูความเสียหาย ต้องถือว่าประชาชนอดทนกันจริงๆ ได้เห็นใบหน้าประชาชนที่มีความสุข และเราจะเร่งฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงฟื้นฟูอนามัย สิ่งแวดล้อม รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนในส่วนของการซ่อมแซมเครื่องไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ ที่ได้รับความเสียหาย และเร่งชดเชยเครื่องใช้อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ รวมถึงจิตใจต้องได้รับการฟื้นฟู ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลังศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ได้เร่งดำเนินการวางกระสอบทรายยักษ์ชะลอน้ำเหนือกทม.ทำให้ฝั่งตะวันออกชะลอน้ำที่ไหลจากทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานีที่จะไหลเข้าสู่พื้นที่กทม.ได้ส่วนหนึ่ง ทำให้การจัดการบริหารน้ำท่วมกทม.ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งแนวกระสอบทรายบิ๊กแบ็คไม่ได้เป็นการหยุดน้ำ แต่เป็นการชะลอน้ำ หรือได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องหาวิธีการอื่นควบคู่ ส่วนแนวน้ำที่อยู่เหนือบิ๊กแบ็คได้ให้กรมชลประทานเร่งผลักน้ำผ่านทางประตูระบายน้ำรังสิตสิตประยูรศักดิ์ และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแลเยียวยาผู้ที่อยู่เหนือบิ๊กแบ็ค

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า น้ำที่ท่วมขังในพื้นที่เขตดอนเมือง สายไหม และบางเขน จากการวางแนวกระสอบทรายบิ๊กแบ็กทำให้น้ำบริเวณพื้นที่เขตดังกล่าวมีปริมาณน้ำลดลง รัฐบาลได้จัดเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จำนวน 70 เครื่องตามที่กรุงเทพมหานครร้องขอ ทำการติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำพื้นที่ กทม.โดยเร็วที่สุด ทำให้สถานการณ์น้ำในพื้นที่ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธินดีขึ้น มีการชะลอน้ำที่ไหลลงมา และทำให้ปริมาณน้ำลดน้อยลง และจะเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัจจัยเสริมน้ำทะเลไม่หนุนสูง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันตก จะมีการเร่งซ่อมแซมผนังกั้นน้ำที่ชำรุดทั้ง 14 จุด โดยทางกรมชลประทานรายงานว่า จะสามารถซ่อมแซมได้แล้วเสร็จในวันที่ 12-13 พ.ย.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้น้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และปทุมธานี มีปริมาณน้ำลดลง ซึ่งฝั่งตะวันตกปัญหาที่พบคือไม่มีผนังกั้นน้ำที่ถาวรในการป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าสู่พื้นที่ทั้งหมด และปัญหาจากคลองต่างๆ เป็นไปในลักษณะแนวนอน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่งขุดคลองลัดต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลเร็วขึ้น และเร่งแก้ไขระบบเส้นทางคมนาคมขนส่งให้กลับมาสู่สภาวะปกติเร็วสุด ซึ่งได้มีการวางแผนสำรองไว้หากถนนพระราม 2 ใช้การไม่ได้ ก็จะให้มีการใช้ถนนเส้น 340 ในการเดินทางลงสู่ภาคใต้ และการดำเนินการต่างๆ ในการเร่งกู้เป็นที่น่าพอใจ

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า หากใครติตตามข่าวก็จะพบว่า การป้องกันน้ำท่วมในส่วนของพื้นที่จังหวัดนนทบุรี โดยเฉพาะในส่วนของเทศบาลปากเกร็ดที่ต้องขอชื่นชมนายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด ที่จะพบว่ ตลอดพื้นที่ปากเกร็ดจนถึงวัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร ไม่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ทั้งๆที่น้ำอ้อมล้อมกลับไม่มีน้ำท่วมในพื้นที่ มีการป้องกันเป็นอย่างดี มีการวางแนวป้องกันไว้สูงถึง 3.50 เมตร ยาวกว่า 10 กิโลเมตร มีการวางแนวกระสอบทรายโดยรอบที่เกิดจากความสามัคคีของคนในชุมชนที่เตรียมการอย่างดี รวมถึงเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ในส่วนที่ได้มีการอนุมัติงบกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กทม.จำนวน 30 เขต 6 แสนกว่าครัวเรือน จำนวน 3,106 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันหลังกทม.สำรวจแล้วเสร็จ ส่วนผู้ประสบภัยใน 36 จังหวัด ก็ได้เริ่มจ่ายไปบ้างแล้วในบางส่วนกว่า 4 แสนราย และในวันที่ 15 พ.ย.จะให้ทางธนาคารออมสินจ่ายให้ครบทั้งหมด นอกจากนี้ รัฐบาล กระทรวงการคลัง และหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเรื่องของเยียวยาฟื้นฟู เช่น การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยมีวงเงินให้กับบ้านที่เสียหายทั้งหลัง ไม่เกิน 3 หมื่นบาท บ้านที่เสียหายบางส่วน ให้ไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนกรณีของผู้เสียชีวิต รายละ 25,000 บาท ส่วนกรณีของผู้เสียชีวิตที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะสนับสนุนเงินสงเคราะห์ให้อีกรายละ 25,000 บาท โดยหลักการเยียวต่างๆนี้ จะใช้ในกทม.และทุกจังหวัดที่ประสบภัย นอกจากนี้เราจะช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือประกอบอาชีพที่ได้รับความเสียหายไม่เกินรายละ 1 หมื่นบาท

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณมิตรประเทศว่า ในฐานะที่ตนเป็นนายกฯ ขอขอบใจมิตรประเทศที่คอยช่วยเหลือในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนส่วนต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนคนไทยอย่างไม่ขาดสาย

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาเราจะต้องก้าวข้ามไปให้ได้ โดยได้จัดตั้งกำหนดยุทธศาสตร์ รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ฟื้นฟูประเทศเป็น 3 ระยะ หรือ 3R คือ ระยะสั้นหรือระยะเร่งด่วนมีศูนย์ ศปภ.ดูแลในส่วนนี้จนกว่าน้ำจะลดในช่วงเร่ง ด่วน 2-3 เดือน ส่วนระยะกลาง หรือการซ่อม ทำทุกอย่างกลับมาเป็นปกติโดยเร็วในระยะ 1 ปี ฟื้นฟูระบบต่างๆ ให้กลับมาทำงานเหมือนเดิม ดูแลเยียวยาโครงสร้างพื้นฐานให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ทั้งภาคประชาชนและนิคมอุตสาหกรรม ได้แบ่งคณะกรรมการเป็น 3ชุด ดูแลโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ดูแลโครงสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ และดูแลเยียวยาจิตใจและทรัพย์สิน และยังมีการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น การดูแลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองทัพ ฯลฯ จะรายงานตรงต่อนายกฯ โดยมอบให้รองนายกฯยงยุทธ รับผิดชอบ

ระยะที่ 3 หรือระยะยาวทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ธรรมชาติของน้ำและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูประเทศกลับมาอย่างไร มีการออกระเบียบสำนักนายกฯตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ กยอ. มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูรเป็นประธาน มีรองนายกฯกิตติรัตน์เป็นรองประธาน ทำงานคู่กับคณะกรรมการอีกชุด คือ กยน. มีดิฉันเป็นประธาน และเรียนเชิญดร.สุเมธ ตันติเวชกุลเป็นที่ปรึกษา โอกาสนี้ขอขอบคุณดร.วีรพงษ์และดร.สุเมธที่ตอบรับคำเชิญในการที่จะเข้ามาช่วย ชาติ

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของ กยน.ได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องน้ำ แต่ในเมืองไทยก็มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องน้ำอีกมาก และในอนาคต กยน.ก็คงมีโอกาสปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญที่เหล่านี้ เพราะเรื่องนี้ต้องการคำแนะนำจากภาคเอกชนหรือวิชาการที่จะมาหารือวิธีการ จัดการอย่างถาวร ต้องมาช่วยกันเพราะถือว่าวาระนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งตนต้องขอขอบคุณ ดร.วีรพงษ์ และดร.สุเมธ ที่ยอมเข้ามาช่วยเหลือประเทศในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ครม.ขอความร่วมมือข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้ความร่วมมือและช่วยกันประสานงานในการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนให้ควบคุมมากที่สุด ให้ทุกคนถือภัยพิบัติครั้งนี้เป็นวาระแห่งชาติ ที่นักวิชาการ ภาครัฐ เอกชน จะต้องร่วมมือกันหาแนวทางป้องกันอย่างถาวาร เราจะต้องไม่นิ่งเฉย

สำหรับยอดรับบริจาคของกองทุนกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขณะที่อยู่ 918 ล้านบาทแล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการได้นำเงินกองบริจาคดังกล่าวไปช่วยเหลือประชาชนในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องของการจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค โดยยอดเงินคงเหลือปัจจุบันอยู่ที่ 309 ล้านบาท นอกจากนี้ทางคณะกรรมการได้นำเงินไปจ่ายให้กับประชาชนที่เสียชีวิตจากสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว 353 ราย จากยอดผู้เสียชีวิต 533ราย และขอยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินเป็นไปอย่างโปร่งใส ทำตามระเบียบ ส่วยเงินที่เหลือรัฐบาลจะนำไปสมทบทุนในมูลนิธิต่างๆ ส่วนพระองค์

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าวันที่ 16-17 พฤศจิกายน จะมีบุคคลสำคัญระดับประเทศเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ คือ นายบันคีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) และนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในการเดินทางมาในครั้งนี้ จะมีการหารือถึงสถานการณ์ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งร่วมหารือถึงแนวทางในการฟื้นฟูประเทศจากเหตุอุทกภัยร้ายแรงในครั้ง นี้ก่อนที่จะไปประชุมอาเซียนซัมมิต ที่อินโดฯ จะมาคุยถึงสถานการณ์ในประเทศไทย รวมทั้งการฟื้นฟูประเทศจากเหตุน้ำท่วมรุนแรงในครั้งนี้

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 17-19 พฤศจิกายนจะเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียนซัมมิต ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยจะใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงต่อเวทีระดับประเทศ รวมทั้งผู้นำประเทศที่สำคัญ เช่น นายบารัค โอมามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีของจีน ถึงสถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทย แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูเยียวยา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งประชาชนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่นักลงทุนและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของ ประเทศ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังขอบคุณมิตรประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายชาติ ที่ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ ตลอดจนขอบคุณ ส.ส.ที่ลงมติผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 ในวาระแรก และยืนยันว่าจะใช้งบฯ อย่างโปร่งใส และเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น