“สุขุมพันธุ์” รับมวลน้ำทะลักถึง ถ.พระราม 2 ระดมเครื่องสูบระบายน้ำออก ชี้ลอยกระทงปีนี้ กทม.จะเปิดพื้นที่สวนสาธารณะจุดที่น้ำไม่ท่วมบริการประชาชน ฝากเตือนประชาชนไม่ควรลอยหน้าบ้านที่น้ำท่วมอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ สั่ง จนท.ที่เกี่ยวข้องติดตามเข้มข้น
วันนี้ (8 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.40 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงสถานการณ์น้ำภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหาร ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำทั่วไป ระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุดในแม่น้ำเจ้าพระยา วานนี้ (7 พ.ย.) อยู่ที่ระดับ 2.08 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) และเช้านี้ เมื่อเวลา 06.00 สูง 1.96 ม.รทก. และจะหนุนสูงสุดอีกครั้งในเวลาประมาณ 16.00 น.โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.07 ม.รทก. ส่วนระดับน้ำในคลองสำคัญนั้นยังทรงตัวและลดลงเล็กน้อย แต่ถือว่ายังคงสูงอยู่ แต่ในพื้นที่น้ำท่วมในเขตที่ท่วมมานานแล้วปรากฏว่า มีบางพื้นที่ เช่น เขตมีนบุรี คลองสามวา คันนายาว บึงกุ่ม สะพานสูง ภาษีเจริญ และจอมทอง ระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อคืนที่ผ่านมา ตนได้ลงนามประกาศให้หมู่บ้านมณียา แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม เป็นพื้นที่อพยพ และล่าสุดในวันนี้ได้ลงนามประกาศให้แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ได้แก่ ซอยนวลจันทร์ 52 ซอยนวลจันทร์ 54 ปากซอยนวลจันทร์ 56 ซอยนวลจันทร์ 58 ซอยนวลจันทร์ 60 ซอยนวมินทร์ 50 ซอยนวมินทร์ 64 ซอยนวมินทร์ 90 ซอยรามอินทรา 38 และแขวงคลองกุ่ม ซอยนวมินทร์ 74 ขณะนี้มีผู้อพยพในศูนย์พักพิงของกทม.แล้ว 14,405 คนใน 133 ศูนย์ จากพื้นที่ 26 เขต ขณะนี้มีผู้อพยพในศูนย์พักพิงของกทม.แล้ว 14,405 คนใน 133 ศูนย์ จากพื้นที่ 26 เขต
ทั้งนี้ ตนเองขอขอบคุณ ศปภ.ตามที่ กทม.ร้องขอ โดยเฉพาะการปิดประตูระบายน้ำคลอง 8-10 ที่จังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คลองหกวาสายล่างมีระดับน้ำที่ต่ำกว่าเดิม และขอบคุณ ศปภ.รวมถึงหน่วยงานอื่นที่สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ ซึ่งมีการนำไปติดตั้งในพื้นที่บางส่วนแล้ว ทั้งนี้ ศปภ.ได้สนับสนุนการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 45 เครื่อง ประกอบด้วย ที่สถานีพระโขนง เครื่องสูบน้ำขนาด 4.25 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 3 เครื่อง และขนาด 3 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 11 เครื่อง สถานีสูบน้ำคลองพระยาราชมนตรี ขนาด 3 ลบ.ม.ต่อวินาทีจำนวน 2 เครื่องและขนาด 1 ลบ.ม.ต่อวินาทีจำนวน 3 เครื่อง สถานีสูบน้ำคลองมอญขนาด 2.2 ลบ.ม.ต่อวินาทีจำนวน 3 เครื่อง สถานีสูบน้ำที่คลองบางกอกใหญ่ขนาด 2 ลบ.ม.ต่อวินาทีจำนวน 5 เครื่อง และขนาด 1 ลบ.ม.ต่อวินาทีจำนวน 1 เครื่อง
สถานีสูบน้ำคลองสานขนาด 1 ลบ.ม.ต่อวินาทีจำนวน 2 เครื่อง สถานีสูบน้ำคลองสนามไชยขนาด 1 ลบ.ม.ต่อวินาทีจำนวน 6 เครื่อง สถานีสูบน้ำคลองชักพระขนาด 1 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 6 เครื่อง และที่สถานีสูบน้ำเทเวศร์ขนาด 0.5 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 3 เครื่อง รวมจำนวน 45 เครื่องซึ่งกทม.ต้องการมีการต้องการเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จำนวน 60 เครื่องเพื่อช่วยระบายน้ำฝั่งตะวันตกผันไปคลองมหาชัยลงแม่น้ำท่าจีน สำหรับเครื่องสูบน้ำที่นำไปติดตั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นการทดแทนเครื่องสูบน้ำของ กทม.ที่ชำรุดและต้องซ่อมแซมจึงไม่ได้เป็นการเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ เช่น สถานีสูบน้ำพระโขนง เป็นการทดแทนเครื่องเดิม แต่ที่สถานีสูบน้ำคลองมอญ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาขยะ กทม.จะระดมการจัดเก็บขยะโดยการว่าจ้างบุคลากรเพิ่มเติม ประมาณ 150 คนต่อเขตที่มีปัญหา เป็นเวลา 50 วันตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. - 31 ธ.ค. 2554 รวมถึงจะจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่จะได้มีเครื่องมือที่ครบครันในการดำเนินงาน ทั้งนี้ การเก็บขยะเป็นงานที่ยากลำบากและหนัก ดังนั้น ค่าว่าจ้างต้องสูงกว่าปกติ ซึ่งตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายแต่ต้องรวดเร็ว นอกจากนี้ทางสำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานไปยังกรมราชทัณฑ์เพื่อขอบุคลากรมาช่วยดำเนินการ
"งานประเพณีลอยกระทงในวันที่ 10 พ.ย.นี้ กทม.งดจัดงานลอยกระทงประจำปีที่ใต้สะพานพระราม 8 ซึ่งขณะนี้น้ำท่วม และเพื่อให้ประเพณีอันดีงามของไทยไม่หายไป กทม.จึงได้เปิดสวนสาธารณะในพื้นที่ที่ไม่ปัญหาน้ำท่วมเพื่อให้ประชาชนได้สักการะเจ้าแม่คงคา และปล่อยความทุกข์ไปกับสายน้ำและที่สำคัญผมไม่อยากให้ประชาชนไปที่ลอยกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองใหญ่ต่างๆ เพราะระดับน้ำอาจจะสูงหรือเชี่ยว และอาจมีน้ำหนุนมากกว่าทุกปีจึงอาจก่อให้เกิดอันตราย รวมถึงผมไม่อยากให้ลอยกระทงหน้าบ้านที่น้ำท่วมเพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานเขตประกาศเรื่องความปลอดภัย และให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้มข้นกับมาตรการดูแลความปลอดภัยในเรื่องของการจุดพลุ ประทัด รวมถึงได้สั่งการให้สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยเตรียมความพร้อม ตลอดจนให้เจ้าหน้าที่ อพปร.คอยดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่อีกด้วย” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มวลน้ำจะมาถึงถนนพระราม 2 หรือไม่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ในที่สุดคงถึงพระราม 2 แต่หวังว่ามวลน้ำจะมาถึงไม่มากนักซึ่ง กทม.พยายามดูแล และถ้าเครื่องสูบน้ำเข้ามาทันจะเร่งสูบน้ำอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ขณะนี้เขตคลองสาน เขตราชบูรณะ เขตบางขุนเทียน ยังไม่มีปัญหา แต่เขตบางขุนเทียนก็ยังน่าเป็นห่วง
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ประตูระบายน้ำของกรมชลประทานทั้ง 14 จุดที่ชำรุดจะซ่อมแซมเสร็จเมื่อไหร่ และที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าได้มอบอำนาจเต็มที่ในการระบายน้ำให้แก่ กทม.นั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ในส่วนของประตูระบานน้ำตนได้รับการยืนยันอย่างไม่เป็นทางการว่าจะซ่อมแซมเสร็จภายในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ส่วนเรื่องการระบายน้ำนั้น กทม.มีอำนาจเต็มที่อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีหลายสถานีสูบน้ำที่กรมชลประทานดู และตอนนี้นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้มอบอำนาจมาให้แต่อย่างใด