xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลประทานยันไม่มีน้ำมวลใหญ่จ่อถล่มกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
“กรมชลประทาน” เผยไม่มีน้ำมวลใหญ่เตรียมถล่มอีกระลอก ระบุมีแค่น้ำท่าที่เริ่มลดลง ส่วนน้ำค้างทุ่งที่กระจายอยู่ทางตอนบนของฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีแค่ 4.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ต้องเร่งระบายลงทะเล

ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กรมชลประทาน เผยแพร่ข้อมูลชี้แจง กรณีที่มีกระแสข่าวว่า “มีน้ำเหนือค้างทุ่งจำนวนมหาศาลรอถล่มกรุง” ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำน่าน ลดลงในระดับต่ำกว่าตลิ่งริมน้ำแล้ว ส่วนปริมาณน้ำท่าที่อยู่ในแม่น้ำต่างๆ ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในลุ่มน้ำยมที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก คาดว่าจะลดลงอยู่ในระดับตลิ่งภายใน 7 วัน สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำท่าก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยที่อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งภายในวันที่ 20 พ.ย.54 ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่าระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่งในวันที่ 27 พ.ย.54

ส่วนปริมาณ “น้ำค้างทุ่ง” ซึ่งกระจายอยู่ในทุ่งทางตอนบนของพื้นที่ด้านฝั่งตะวันออก และตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 4,394 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยอยู่ในพื้นที่ทางด้านฝั่งตะวันออก 1,831 ล้านลูกบาศก์เมตร และในพื้นที่ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 2,563 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล วันที่ 9 พ.ย.54) ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ต้องบริหารจัดการด้วยการระบายออกทะเลผ่านระบบระบายน้ำ ของกรมชลประทานและกรุงเทพมหานคร โดยปริมาณน้ำดังกล่าวจะค่อยๆ ไหลลงมาสู่พื้นที่ทางตอนล่าง

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมชลประทานได้ดำเนินการ เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าในวันที่ 7 พ.ย.54 ระบายน้ำได้ประมาณ 102 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หลังจากที่มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และเครื่องผลักดันน้ำเพิ่ม เติมทำให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยในระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2554 สามารถระบายน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 121 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ยังไม่รวมการระบายน้ำผ่านประตู ระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ อีกประมาณ 50-60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และยังมีปริมาณน้ำที่ระบายออกตามธรรมชาติผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกงอีกด้วย

นอกจากนี้ มาตรการการเร่งระบายน้ำดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยากรมชลประทาน ยังมีมาตรการชะลอปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาสู่พื้นที่ทางตอนล่างด้วย โดยลดการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพและประตูระบายน้ำบรมธาตุ รวมทั้งยังได้เร่งซ่อมแซมอาคารชลประทานและคันกั้นน้ำในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี แล้วเสร็จ 12 แห่ง จาก 14 แห่ง ซึ่งสามารถช่วยชะลอน้ำที่จะไหลเข้าพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น