ฝ่ายค้าน ฉะแหลก วิกฤตน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติทั้งหมด แต่เกิดจากประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ชี้ สถิติน้ำฝนระบุชัด มีปริมาณเพิ่มเพียง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 แต่กลับมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นร้อยเท่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (9 พ.ย.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 2.3 ล้านล้านบาท ในช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายสลับกันระหว่าง ส.ส.รัฐบาล และฝ่ายค้าน ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับสถานการณ์อุทกภัย โดย ส.ส.รัฐบาลต่างอภิปรายสนับสนุนการจัดทำงบประมาณและให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาอุทกภัย ขณะที่ฝ่ายค้านได้ลุกขึ้นตำหนิการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล โดยเฉพาะเป็นห่วงถึงการจัดเก็บรายได้ที่จะไม่เข้าเป้า และการบริหารงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาน้ำที่ล้มเหลวกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ
นายพุทธพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า นโยบายการคลังหากเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าที่ตั้งไว้ รัฐบาลจะทำอย่างไร เพราะตั้งงบขาดดุลแค่ 4 แสนล้านบาท ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ไปประชุมเอเปกนั้น เรื่องนี้ดีใจด้วย เพราะเป็นห่วงไปตอบคำถามนักลงทุนไม่ได้ที่จะให้มาลงทุนในประเทศไทย วันนี้อย่าไปเล่นกับความรู้สึกของประชาชน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นฟูใน 1-2 ปีนี้ และวันนี้มีข่าวอินโดนีเซีย เวียดนาม จะแซงหน้าประเทศไทยในด้านการลงทุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อเจอภาวะผู้นำแบบนี้ จะให้ผ่านงบประมาณโดยเฉพาะงบกลางที่ตั้งไว้เป็นแสนๆ ล้านได้อย่างไร
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากภัยธรรมชาติทั้งหมดแต่มาจากประสิทธิภาพในการจัดการน้ำของรัฐบาลโดยสะท้อนได้จากตัวนายกรัฐมนตรี งบกลางที่ตั้งไว้ 1.2 แสนล้าน ไม่มีรายละเอียด สะท้อนความล้มเหลวในการบริหาร เมื่อดูสถิติปริมาณน้ำฝนที่ตกในปี2554 ถึงเดือนต.ค.2554 และย้อนไปปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 เท่านั้น แต่กลับมีความเสียหายเกิดเป็นร้อยเท่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบปริมาณฝนเดือนต่อเดือน เดือน ต.ค.2554 มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปี2553 อีก และเมื่อฝนหยุดตกนานแล้ว ทำไมรัฐบาลยังบอกไม่ได้ว่าพื้นที่ไหนจะท่วมหรือไม่ท่วม หรือท่วมนานเท่าไหร่ สถิติเหล่านี้ฟ้องว่าปัญหาเกิดจากการบริหาผิดพลาด มากกว่าเรื่องของภัยธรรมชาติ
นายเกียรติ กล่าวว่า ความไม่น่าเชื่อถือของรัฐบาลอีกเรื่อง คือ ช่วงแรกที่สินค้ามีราคาแพง เพราะรัฐบาลประกาศข่าวสร้างความตื่นตระหนกทำให้คนกักตุนสินค้า แทนที่กระทรวงพาณิชย์จะประชุมกับผู้ประกอบการเรื่องการกระจายสินค้า แต่กลับหารือถึงราคาสินค้า ทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน
นอกจากนี้ การที่ ครม.อนุมัติตั้งคลังสำรองอาหาร จะยิ่งซ้ำเติมปัญหา เพราะเป็นการดึงสินค้าภายในไปกองไว้ที่รัฐบาล ไม่มีระบบการกระจายที่ดี ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พยายามประกาศมาตรการสร้างความเชื่อมั่น แต่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ ว่า ในปี 2555 น้ำจะท่วมมากกว่าปี 2554 ผลที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะบริษัทประกันจะไม่จ่ายเงินชดเชยให้ความเสียหายในปี 2555 และเอกชนต้องซื้อประกันแพงขึ้น หรือบริษัทประกันจะไม่ขายประกันให้กับบริษัทเอกชน ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของความไม่มั่นใจที่เกิดจากคนในรัฐบาลที่พูดไม่ตรงกัน
“แม้ผมเชื่อว่า ท่านนายกฯทำดีที่สุด แต่ก็ยังดีไม่พอ นายกฯและรัฐบาลต้องออกมาชี้แจงสาเหตุของอุทกภัยให้ชัด และถ้านายกฯยอมรับว่าผิดพลาดแล้วจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ก็เป็นเรื่องของท่าน แต่อย่างต่ำที่สุด คำขอโทษสักนิด ก็ยังดี”
ทางด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ลุกขึ้นชี้แจงทันทีว่า ไม่ได้พูดถึงสิ่งก่อสร้าง หรือนิคมอุตสาหกรรมว่าเราจะป้องกันได้หรือไม่ แต่ตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุอยู่แล้วว่า โลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ และน่าจะเกิดขึ้นจริง หน้าที่ของเราคือการบอกให้ประชาชนและรัฐบาลว่าเราต้องเผชิญกับเรื่องดังกล่าว และต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและผู้ประกอบการ รวมถึงบริษัทประกันด้วยว่าต้องปรับตัวอย่างไร เพราะถ้าบริษัทประกันไม่ยอมเชื่อ เขาก็คงต้องไปขายปาท่องโก๋ เพราะจะไม่มีใครมาซื้อประกัน