รัฐมนตรีพลังงาน ชี้ “นิวไทยแลนด์” แค่คุยกันแบบกว้างๆ ยังไม่มีข้อสรุป รอดูหลังน้ำลด เล็งใช้โมเดลต่างชาติมาปรับ จ่อผุดทีมกุนซือจากต่างประเทศ ขุดทุนสำรองชาติใช้ จ่อสร้างท่อส่งน้ำมัน แลนด์บริดจ์ทางใต้ พร้อมแก้ กม.ช่วย ด้านรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไล่ไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน หวั่นไม่ประกาศวันหยุดต่อ กระทบชาวบ้านที่เสี่ยงภัย ขอรอดูก่อนเอา 9 แสนล้านไปทำอะไร แขวะขนาดบริหารน้ำยังได้แบบนี้แล้วยังจะได้ไว้วางใจให้ใช้เงินมหาศาลหรือ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "นายพิชัย นริพทะพันธ์" ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (31 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า โครงการฟื้นฟูระยะยาว “นิวไทยแลนด์” นั้น เป็นวิธีการพูดคุยหารือกันแบบภาพกว้าง ทั้งนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม จะต้องเริ่มไปดูแนวทางการฟื้นฟูหลังน้ำลดก่อน โดยจะมีการนำโมเดลของประเทศที่เคยประสบอุทกภัยมาดู เช่น มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งจะได้นำปรับใช้กับประเทศไทย เบื้องต้นจะตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาจากต่างประเทศขึ้นมาพิจารณา โดยมีนายกฯเป็นประธาน อีกทั้งยังจะดูไปถึงการพิจารณานำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ 1.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ว่า จะนำมาใช้ในส่วนใดได้บ้าง ขณะที่รูปแบบการฟื้นฟูนั้นจะนำมาดูในทุกด้าน เช่น ท่อส่งน้ำมัน และแลนด์บริดจ์ที่จะมาทำนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ ในอนาคตหากจำเป็นต้องมีการแก้กฎหมายใดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำโครงการ “นิวไทยแลนด์” ก็ต้องมาดูในรายละเอียดของกฎหมายแต่ละฉบับอีกครั้ง
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีเงา รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเตรียมใช้เม็ดเงินนอกงบประมาณ 9 แสนล้านบาท ทำโครงการ “นิวไทยแลนด์” เพื่อฟื้นฟูและป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว ว่า ระยะนี้เป็นระยะที่รัฐบาลควรจะมีสมาธิในการแก้ปัญหาทุกข์ยากของประชาชนที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งตอนนี้ประชาชนหลายล้านคนกำลังเดือดร้อนกันอยู่ แต่ดูเหมือนรัฐบาลยังไม่ค่อยตื่นตัวต่อระดับปัญหา สิ่งที่ตนกังวล เช่น การประกาศให้กิจการดำเนินการตามปกติในวันที่ 1 พ.ย.นี้ จะส่งผลอย่างไรก็ต่อประชาชน เพราะจากการลงพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยใน กทม. ได้พบเห็นสภาพการจราจรที่แย่ลงเมื่อเทียบกับวันที่มีการประกาศเป็นวันหยุด แต่รัฐบาลยังคะยั้นคะยอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทำการอพยพ แต่ก็เกิดความโกลหลเพราะประชาชนที่ถูกบังคับให้อพยพ ถูกบังคับให้เดินทางกลับเข้ามาทำงานอีก ดังนั้น คนกลับมาไม่ได้ก็จะมีปัญหากับที่ทำงาน ตรงนี้ต่างหากที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข
นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ตนยอมรับว่า ในอนาคตต้องมีการฟื้นฟูป้องกัน แต่เม็ดเงินที่รัฐบาลพูดถึงเพื่อมาทำโครงการ “นิวไทยแลนด์” นั้น ไม่มีความสำคัญเท่ากับว่าจะนำเม็ดเงินดังกล่าวไปใช้ทำอะไรบ้าง เพราะจากแผนที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ในส่วนของเม็ดเงิน 2-4 แสนล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วมถาวร พรรคเพื่อไทยระบุถึงการถมทะเลและการป้องกันจากทะเล ถ้าอย่างนั้นการดำเนินการจะไร้ค่าโดยสิ้นเชิง เพราะน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ได้มาจากทะเล แต่เป็นน้ำที่มาจากภายใน โดยเฉพาะจากการบิรหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลมาตลอด ดังนั้น 9 แสนล้านบาทที่รัฐบาลระบุตนจะไม่ขอแสดงความคิดเห็นจนกว่าจะรู้ว่าเอาเม็ดเงินดังกล่าวไปทำอะไรบ้าง
“แน่นอนว่าเงินมันมีอยู่แล้ว แต่ต้องคิดด้วยว่าก่อนที่งบประมาณปี 2555 จะออกเพียงไม่กี่เดือนนั้น ขณะที่จีดีพีประเทศยังขยายตัวในทางบวกแม้จะมีการปรับลดอัตราการขยายตัวก็ตาม รัฐบาลก็ต้องอธิบายว่า ทำไมไม่บริหารภายใต้กรอบงบประมาณปกติ ทำไมต้องใช้เงินนอกงบประมาณ 9 แสนล้านบาท ทั้งที่ในอดีตพรรคเพื่อไทยเองก็เคยคัดค้านรัฐบาลประชาธิปัตย์ในการใช้เงินนอกงบประมาณ แต่เพราะครั้งนั้นตัวเลขการขยายตัวมีปัญหา ซึ่งเป็นคนละอย่างกับวันนี้ ดังนั้นคิดว่า โครงการ “นิวไทยแลนด์” ที่จะทำ ในส่วนที่เอางบมาใช้ไม่ทันหรือยังไม่ได้ดำเนินการ สามารถรอบรรจุเป็นงบปี 2556 ได้ และแผนต้องชัดว่า จะใช้งบอะไร ไปทำอะไร ที่สำคัญรัฐบาลต้องตระหนักถึงความศรัทธาและประสิทธิภาพความโปร่งใส ถามว่าเมื่อรัฐบาลบริหารจัดการเรื่องน้ำอย่างนี้ ยังจะได้รับความไว้วางใจให้บริหารเม็ดเงินมหาศาลอย่างนี้อีกหรือ” นายกรณ์ กล่าว