xs
xsm
sm
md
lg

ศปภ.แนะคนกรุง เตรียมพร้อมอพยพทันทีหากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธงทอง จันทรางศุ (แฟ้มภาพ)
ศปภ.แนะคนกรุงเทพฯ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์รุนแรงจากน้ำท่วม โดยพร้อมอพยพไปยังศูนย์พักพิง 9 จังหวัดที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้เผย “ประชา” นำทีมแจงทูตต่างประเทศบ่ายนี้ ด้าน ปชป.เปิดครัวใต้บริการผู้ประสบภัย-เจ้าหน้าที่ ปูพรม 30 จุด ตั้งเป้าจุดละ1 หมื่นกล่อง

นายธงทอง จันทรางศุ โฆษกศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เปิดเผยว่า ศปภ.ได้เตรียมข้อมูลคำแนะนำที่จะมอบให้ประชาชนถึงการปฏิบัติตนในการอพยพไปศูนย์พักพิงชั่วคราว เช่น การจัดเตรียมสัมภาระที่จำเป็นในการเดินทาง และขั้นตอนการติดต่อเจ้าหน้าที่ในการเดินทางไปยังศูนย์พักพิง เป็นต้น ซึ่งประชาชนในเขตพื้นที่ กทม.ควรเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรง โดย ศปภ.ก็จะอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายประชาชนไปยังศูนย์พักพิง 9 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ ศปภ.มีความกังวลในส่วนของประชาชนที่มีบ้านอยู่ริมน้ำ พื้นที่ลุ่ม และชุมชนแออัด ที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม โดยประชาชนสามารถสืบค้นคำแนะนำในการอพยพเพิ่มเติ่มได้ที่ www.floodthailand.net

นายธงทองกล่าวด้วยว่า ในเวลา 15.00 น.วันนี้ ตนจะเดินทางไปกระทรวงการต่างประเทศพร้อมกับนายประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปภ. และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัย ฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะคณะบริหารจัดการระบายน้ำ ศปภ. เพื่อพบกับคณะทูตานุทูตต่างประเทศ และชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และมาตราการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดครัวปักษ์ใต้อาสาสู้ภัยน้ำท่วมกระจายไปตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานครเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยรวม 30 จุดครอบคลุมพื้นที่ประสบอุทกภัยในกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละครัวสามารถผลิตอาหารได้จุดละ 10,000 กล่องต่อวัน โดยวันนี้สามารถเปิดได้แล้ว 6 ครัว เช่น ดอนเมือง สายไหม วัดพระศรีมหาธาตุ สมาคมชาวปักษ์ใต้ และจะทยอยเปิดให้ครบภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้

นายสุเทพกล่าวว่า แต่ละศูนย์จะมี ส.ส.ประชาธิปัตย์เข้าไปดูแลการจัดการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทั้งนี้วัตถุดิบตนได้นำกุ้งจากภาคใต้บรรทุกเข้ากรุงเทพมหานครทุกวัน นอกจากนี้ ยังนำปลาเค็มมะละกอจากภาคใต้เข้ามาปรุงแกงส้มกุ้งปักษ์ใต้ และปลาเค็ม เป็นอาหารยืนพื้นในแต่ละศูนย์ที่ตั้งเป็นโรงครัวและศูนย์รับบริจาคด้วย ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนน้ำมันพืชจากกลุ่มนักธุรกิจเพื่อใช้ในการปรุงอาหารด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น