“โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม” ทนายความส่วนตัว นช.แม้ว เยี่ยมผู้ต้องขังแดงเผาเมืองภายในเรือนจำกลาง จ.อุดรธานี โดยมีเครือข่ายคนเสื้อแดงให้การต้อนรับอย่างเนืองแน่น ส.ว.เสื้อแดงหนุนสอบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 เชื่อ ข้อมูลเป็นประโยชน์ จี้ ราชการเปิดข้อมูลให้ทนายต่างชาติ เตรียมเปิดรายงานสรุปผลศึกษา หาก ปธ.วุฒิฯอนุญาต แต่รับทั้งฉบับไร้หลักฐานมัดตัวคนฆ่า ปชช.
วันนี้ (19 ต.ค.) ที่เรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายคารม พลพรกลาง ทนายความ นปช.ได้เดินทางมาเยี่ยมผู้ต้องขังที่อยู่ภายในเรือนจำกลาง จ.อุดรธานี ที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ได้มี ดีเจก้อง, ดีเจ จอ ใจเดียว จากชมรมคนรักอุดร ที่ติดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ด้วย จากนั้นทางคณะของ นายโรเบิร์ต ได้เดินทางไปที่สถานีวิทยุของ พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายของคนเสื้อแดง และได้เดินทางต่อไปที่สถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร ของ นายขวัญชัย ไพรพนา ด้วยเช่นเดียวกัน
ที่รัฐสภา นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ อดีตประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา กล่าวถึงการตระเวนเก็บข้อมูลการเข้าสลายการชุมนุมและการเสียชีวิตของประชาชนในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ของนายโรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม ทนายความส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีอาญา ว่า เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ตกหล่นในหลายส่วนได้พอสมควร เพราะที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดเก็บรวบรวมได้ทั้งหมด และมองว่า เป็นสิทธิ์ของนายอัมสเตอร์ดัม ที่จะขอข้อมูลกับหน่วยงานราชการ เพราะมีหลายชิ้นที่เหตุการณ์เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ปรากฏออกสู่สาธารณะ ที่เห็นชัดคือ กรณีผู้เสียชีวิต 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ซึ่งมีทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเห็นเหตุการณ์ โดยเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในมุมสูงได้ถ่ายคลิปออกมาเผยแพร่ และปรากฏชัดว่าบุคคลที่อยู่บนรางรถไฟฟ้านั้นเป็นใคร ดังนั้น หากสามารถนำคนที่ถ่ายคลิป และคนที่อยู่รางรถไฟฟ้าออกมาได้ ความจริงก็จะกระจ่าง ซึ่งทั้งหมดต้องรอกระบวนการเปิดเผยข้อมูลจากภาครัฐ ที่จะนำไปสู่ผลการปฏิบัติจริงได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง นายโรเบิร์ต ได้มีการประสานขอข้อมูลจากทางวุฒิสภาหรือไม่ นายจิตติพจน์ กล่าวว่า ไม่มีการประสานกัน ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการได้จัดรายงานสรุปที่เบื้องต้นได้มาจากจาการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานจากหลายส่วน แต่ประธานวุฒิสภายังไม่ได้อนุมัติให้ออกมาเผยแพร่ แต่พอจะบอกได้ว่าในรายงานดังกล่าวระบุว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 91 ศพ ไม่มีหลักฐานใดๆบ่งชี้ได้ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ แต่น่าเสียดายที่คณะกรรมการไม่ได้รับการอนุมัติให้ขยายเวลาการศึกษาออกไปอีก ซึ่งรายงานฉบับที่ 2 ตั้งใจจะลงลึกในรายละเอียดคงต้องรอดูประธานวุฒิสภาจะให้เราทำต่อไปให้เสร็จหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา แต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 พ.ค.53 ตามคำสั่งของ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองในชาติของรัฐบาลในสมัยนั้น แต่ได้หมดวาระลงไปตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน เม.ย.54 ที่ผ่านมาพร้อมการพ้นตำแหน่งของนายประสพสุข และไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวุฒิสภาให้ต่อเวลาการทำงานออกไป