ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มอบหมาย กระทรวงสาธารณสุข ปฏิเสธข่าวลือ “นวนคร” สารเคมีรั่ว สั่ง “กรมอนามัย-ควบคุมมลพิษ” ตรึงพื้นที่ ระบุ สั่งตรวจตั้งแต่เมื่อวานยังไม่พบผิดปกติ ด้านผู้แทนนิคมฯกำชับโรงงานเก็บสารเคมีมิดชิด เชื่อคุมอยู่แน่ เผยในพื้นที่ใช้ไม่มาก จึงไม่น่าห่วง ด้าน"วิทยา"รับสภาพบริการแพทย์ได้แค่ 70 เปอร์เซ็นต์ เหตุติดขัดการขนส่ง สั่งสำรองเตียงตาม รพ.ในสังกัด
วันนี้ (19 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะกลุ่มสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือให้ทันต่อเหตุการณ์ เปิดแถลงข่าวปฏิเสธกระแสข่าวสารเคมีที่เป็นพิษรั่วซึมที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร โดยชี้แจงว่า ตนได้มอบหมายให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งทีมเข้าตรวจสอบพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.เป็นต้นมา ซึ่งยังไม่พบว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบจากสารเคมีหรือมีอาการภูมิแพ้ใดๆ กรณีนี้ทางผู้บริหารนิคมนวนครได้กำชับให้โรงงานต่างๆ จัดเก็บสารเคมีอย่างเข้มงวด หรือหากพบความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน ทางกระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งให้ทราบโดยด่วน โดยมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงตรวจสอบในพื้นที่ตลอดเวลา จึงขอไม่ให้ประชาชนวิตกและมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ สำหรับการเตรียมตัวเก็บย้ายสารเคมีของโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมอื่น เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้รับผิดชอบ และแจ้งทันทีถ้ามีเหตุเกิดขึ้น โดยเบื้องต้น ทาง กทม.ก็ได้เตือนให้ระวังไปแล้ว
ด้าน พล.อ.อ.นพพร จันทวานิช กรรมการบริหาร บริษัท นวนคร จำกัด ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมนวนคร กล่าวเสริมว่า ทางนิคมนวนครได้เตรียมตัวป้องกันมาตั้งแต่เดือน ก.ย.โดยได้ประชุมร่วมกับโรงงานในนิคมทั้ง 227 โรงงาน ขอให้เคลื่อนย้ายสารเคมีที่จะกระทบต่อร่างกาย โดยให้บรรจุในถังอย่างมิดชิด และเก็บในที่สูงมากกว่า 10 เมตร ส่วนสารเคมีที่อยู่ในกระบวนการบำบัดนั้น ขอให้โรงงานทำการเจือจางโดยด่วน ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษได้ไปตรวจสอบไม่พบสารเคมีในปริมาณที่เป็นผลกระทบกับประชาชน และขอยืนยันว่า ภายในนิคมนวนครมีสารเคมีที่เป็นอันตรายไม่มาก
“เรามีโรงงานเกี่ยวกับอิเลกทรอนิกส์แค่ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีโรงงานชุบโลหะ จึงใช้สารเคมีไม่มากนัก สำหรับความเสียหายโดยรวมนั้น เบื้องต้นนิคมแห่งนี้ลงทุนไปกว่า 1.8 แสนล้านบาท แต่ค่าความเสียหายคงต้องประเมินหลังน้ำลด โดยในพื้นที่ขณะนี้มีน้ำท่วมไปกว่า 90 เปอร์เซนต์ มีการทำแนวกั้นน้ำในระดับสูงไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ขณะที่ระดับน้ำนอกคันกั้นน้ำอยู่ที่ราว 1.7 เมตร” พล.อ.อ.นพพร ชี้
นายวิทยา เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหาร และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมผ่านทางระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ทางกระทรวงได้เตรียมความพร้อมด้านบริการทางการแพทย์ไว้เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่คาดการณ์ว่าจะได้ใช้การได้จริงประมาณ 70 เปอร์เซนต์เท่านั้น ซึ่งถือว่ามีความพร้อมที่สุดตามสภาพจริง ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล ระบบส่งต่อ การอพยพผู้ป่วย เนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยวกับเส้นทางจราจร ระดับน้ำ ทำให้ปฏิบัติงานไม่ได้เต็มที่ อย่างไรก็ตามตนได้วางแผนเตรียมแก้สถานการณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้การบริการกลับมาใกล้เคียง 100 เปอร์เซ็นต์มากที่สุด
นายวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมหากเกิดน้ำท่วมในเขต กทม.นั้น ได้เตรียมเตียงสำรองผู้ป่วยทั้งของโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ และตำรวจ โรงพยาบาลสังกัด กทม.และโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีการสำรองไว้ 5 เปอร์เซนต์ของจำนวนเตียงทั้งหมด รวมประมาณ 1,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนอกเขต กทม. ทั้งนี้หากโรงพยาบาลในเขต กทม.น้ำท่วม จะดำเนินการส่งผู้ป่วยกลับไปโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคที่สามารถเปิดให้บริการได้ พร้อมทั้งเร่งกู้โรงพยาบาลทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบให้สามารถเปิดให้บริการได้เร็วที่สุด
นายวิทยา กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่องในหลายจังหวัด ตนมีความเป็นห่วงผู้ประสบภัยอาจป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วง เนื่องจากน้ำท่วมเป็นเวลานาน อีกทั้งผู้ประสบภัยไม่สามารถปรุงอาหารเองได้ ต้องอาศัยอาหารบริจาค ตนจึงขอให้ประชาชนทานอาหารที่ปรุงเสร็จภายใน 4 ชั่วโมง ไม่ควรเก็บข้ามมื้อ เพราะจะเกิดการเน่าเสีย ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกตรวจสอบควบคุมมาตรฐานโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งมีทะเบียนขึ้นกับ อย.จำนวน 1,000 กว่าแห่ง เพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้ประสบภัยยามน้ำท่วม และขอให้ผู้บริโภคสังเกตลักษณะของน้ำ โดยน้ำดื่มบรรจุขวดที่ปลอดภัยต้องมีตรา อย.ฝาต้องปิดสนิท ไม่มีรอยเปิด และต้องไม่มีตะกอนอยู่ในขวด