ที่ประชุม กกต.มีมติเสียงข้างมากให้ยกคำร้องคัดค้าน 10 ส.ว.สรรหา ชี้ องค์กรที่เสนอชื่อเป็นนิติบุคคลถูกต้องไม่เกี่ยวข้องการเมือง
วันนี้ (18 ต.ค.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า กกต.มีมติเสียงข้างมากยกคำร้องคัดค้าน ส.ว.สรรหาจำนวน 10 คน ที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว.สรรหาได้ยื่นคำร้องคัดค้าน ประกอบด้วย พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง นายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ นายประสงค์ ตันมณีวัฒนา นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ นายพิสิฐ เกตุผาสุก พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ นายวิชัย ไพรสงบ พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม และนายสมบูรณ์ งามลักษณ์ โดยเห็นว่า องค์กรที่เสนอชื่อบุคคลเหล่านี้เข้ารับการสรรหา คือ กองทัพอากาศ และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่เสนอชื่อ พล.อ.อ.ชาลี และ พล.อ.สมเจตน์ ตามลำดับ เป็นองค์กรในราชการส่วนกลาง เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ส่วนกรมสารนิเทศของกระทรวงการต่างประเทศ กรมบัญชีกลางของกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดชลบุรี จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดนครราชสีมา ที่เสนอชื่อ นายประจิตต์, นายปิยพันธุ์, พล.อ.เลิศฤทธิ์, นายประสงค์ศักดิ์, นายพิสิฐ, นายวิชัย และ นายสมบูรณ์ ตามลำดับ เป็นองค์กรในราชการส่วนภูมิภาคเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ส่วนเทศบาลตำบลขุนพัดเพ็ง จ.สุพรรณบุรี ที่เสนอชื่อ นายประสงค์ เป็นองค์กรในราชการส่วนท้องถิ่นเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าว ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดที่ระบุให้องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ตามที่นายเรืองไกร อ้างว่า เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดิน โดยฝ่ายการเมือง คือ รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี จึงเข้าลักษณะเป็นองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทำให้ผู้ถูกร้องได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น กกต.จึงเห็นว่า เมื่อกฎหมายที่บัญญัติจัดตั้งองค์กรทั้ง 10 องค์กรดังกล่าว ขึ้นเป็นนิติบุคคลโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้องค์กรเหล่านี้ไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ถูกร้องทั้ง 10 เป็นไปโดยถูกต้องและชอบรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ประกอบมาตรา 127 มาตรา 128 และมาตรา 129 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 อีกทั้งมาตรา 130 ของ พ.ร.ป.ฉบับเดียวกันบัญญัติให้ผลการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการสรรหาถือเป็นที่สุด กกต.จึงมีมติยกคำร้องดังกล่าว