“นายกฯ” สั่งทุกกระทรวงวางแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ขีดเส้นนำเสนอภายใน 1 สัปดาห์ กำชับ ทส.-มท.ร่วมกันให้ความรู้แต่ละชุมชน ทำลูกบอลจุลินทรีย์เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียทุกพื้นที่ ขณะที่ยอดบริจาคทะลุ 500 ล้าน ใช้ไปแล้วกว่า 200 ล้าน ขณะที่สิ่งของที่ได้รับบริจาคมีมูลค่าถึง 1 พันล้านบาท
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาอุทกภัย และได้มีการหารือถึงการฟื้นฟู เยียวยา ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ วัฒนธรรม และ แรงงาน โดยให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงวางแผนการปฏิบัติงานหลังจากน้ำลดอย่างรวดเร็วที่สุด และนำเสนอต่อ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพ ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รายงานเรื่องน้ำเน่าเสียต่อที่ประชุม และนำเสนอเรื่องประสิทธิภาพของลูกบอลจุลินทรีย์ ที่ใช้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่ง 1ลูก ครอบคลุม 4 ตารางเมตร ฉะนั้น 1 ไร่ เท่ากับ 400 ลูก จะต้องใช้หัวเชื้อ0.8 ลิตร ทั้งนี้ นายกฯได้ให้แง่คิดกับกระทรวงทรัพยากรฯ ว่า ปริมาณที่มีอยู่ยังน้อยมาก ไม่เพียงพอ จึงให้กระทรวงทรัพยากรฯร่วมกับกระทรวงมหาดไทยดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อกระจายความรู้ให้ชุมชนสามารถทำสูตรเองได้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียได้ครอบคลุมทุกพื้นที่
นางฐิติมา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้กำชับกระทรวงสาธารณสุข ให้ป้องกันเรื่องโรคระบาดที่อาจมีถึง 10 โรค จึงให้มีการบริหารจัดการในแต่ละศูนย์อพยพ โดยการสร้างอาชีพให้กับประชาชน ให้ประชาชนได้คลายเครียด ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องทำการสำรวจจำนวนโรงเรียน นักเรียนที่ได้รับผลกระทบ ในการเตรียมการแก้ปัญหา ทั้งนี้ นายกฯได้กำชับแต่ละกระทรวงให้เร่งนำเสนอภาพรวมภายใน 1 สัปดาห์ต่อ พล.ต.อ.โกวิท เพื่อให้การวางแผนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อจะเร่งฟื้นฟูเยียวยาทั้งในปัจจุบัน และระยะยาวต่อไป อีกทั้งทุกกระทรวงจะต้องนำเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับยอดเงินบริจาคในกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของสำนักนายกรัฐมนตรี มีทั้งสิ้น 515,632,460.31 บาท ใช้จ่ายไปแล้ว 286,744,560 บาท ยอดคงเหลือสุทธิ 243,719,786.31 บาท ขณะที่สิ่งของที่ได้รับบริจาคมีมูลค่าถึง 1 พันล้านบาท ตลอดจนมีประชาชนที่อาสาเข้ามาช่วยเหลือใน ศปภ.ในวันปกติประมาณ 3 พันคน วันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 5 พันคน