ผ่าประเด็นร้อน
จากการรายงานของทางการปรากฏว่ายังมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเวลานี้ไม่น้อยกว่า 20 จังหวัด แม้ว่าพื้นที่ทางภาคเหนือตอนบนเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ อยู่ในช่วงของการฟื้นฟูความเสียหาย แต่สำหรับพื้นที่ตอนล่างลงมา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางยังมีแนวโน้มที่ต้องประสบภัยยืดเยื้อยาวนานอีกเป็นเดือน
มิหนำซ้ำในช่วงเวลานับจากนี้ไปภาคกลางหลายจังหวัดจะกลายเป็นพื้นที่รับน้ำจากภาคเหนือดังที่กำลังเกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และพระนครศรีอยุธยา รวมถึงพื้นที่โดยรอบอื่นๆที่กำลังวิกฤตหนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกเหนือจากนี้พื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ปริมณฑล ที่จะต้องรองรับน้ำที่ไหลบ่าลงมาเป็นแหล่งสุดท้าย ซึ่งปริมาณน้ำยังไหลบ่ามาไม่ถึงด้วยซ้ำไปแต่ทำให้เกิดความเครียดเกิดการกักตุนอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคกันชุลมุนวุ่นวายอย่างไม่น่าเชื่อ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านไม่มีความเชื่อมั่นต่อมาตรการรับมือของฝ่ายรัฐบาล หลังจากได้เห็นฝีมือและมีประสบการณ์จริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไล่ลงมาจากผู้นำรัฐบาล คือนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจนถึงระดับรัฐมนตรีรองลงมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ฝีมือห่วยแตก” เกินความคาดหมาย ไม่สมราคาคุยที่เคยสร้างภาพเอาไว้ก่อนหน้านี้
เพราะจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นมานานนับเดือน บางพื้นที่ต้องจมน้ำมานานกว่า สองเดือน และต้องรู้ล่วงหน้าว่าปริมาณน้ำจะต้องไหลทะลักลงมาในพื้นที่ตอนล่าง แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลกลับ “ดูเบา” การตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปก.) ขึ้นมาดูแลแก้ปัญหาก็เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากทุกอย่างสายไปแล้ว และสิ่งที่ทำได้ก็คือเป็นการอพยพชาวบ้านออกมาจากบริเวณน้ำท่วมสูงอยู่ในภาวะวิกฤตเท่านั้น ไม่ใช่เป็นลักษณะป้องกันรับมือเพื่อป้องกันความเสียหาย
ขณะเดียวกัน เมื่อมาพิจารณาถึงมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ประสบความเดือดร้อนเอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยความโกลาหล ไร้ระเบียบ ทำได้ไม่ทั่วถึง เวลานี้สิ่งที่ชาวบ้านทำได้ดีที่สุดก็คือการพึ่งพาตัวเอง และต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยตัวเองเท่านั้น และลักษณะที่เกิดขึ้นแบบนี้ได้ยืดเยื้อยาวนานจากสัปดาห์ เป็นเดือนและสองเดือน ซึ่งยังไม่มีทีท่าคลี่คลายลงแต่อย่างใด
ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกมาแถลงยอมรับกลายๆแล้วว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์และปริมาณน้ำที่ไหลบ่าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาจากแนวป้องกันตามแนวคันกั้นน้ำที่จังหวัดปทุมธานีที่วิกฤติ มีคันกั้นน้ำแตกหลายจุด และยังไม่อาจกู้คืนกลับมาได้ ส่งผลให้น้ำเริ่มทะลักเข้าสู่จังหวัดนนทบุรี และบางส่วนก็ได้แยกออกไปทางฝั่งตะวันออกนอกแนวคันกั้นน้ำที่ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น
แม้ว่าฝ่ายผู้บริหารทั้งรัฐบาลโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครยืนยันว่าสามารถรับมือไหว แต่จากประสบการณ์จากอยุธยาและนครสวรรค์ ทำให้ชาวกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีความมั่นใจนัก จนต้องหาทางรับมือด้วยตัวเอง
เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่จังหวัดนครสวรรค์และอยุธยา ที่อยู่ในสภาพน้ำท่วมมานานนับเดือน บางพื้นที่ต่อเนื่องนานกว่าสองเดือนทำให้เกิดความเครียด และจากการบริหารจัดการที่ถือว่า “ล้มเหลว” ขาดการประสานงาน ทำให้บางแห่งมีความช่วยเหลือซ้ำซ้อน ขณะที่บางแห่งการช่วยเหลือเข้าไม่ถึง จนเกิดการขาดแคลนอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้เกิดความเครียด
จากความอดอยากหิวโหย การขาดแคลนดังกล่าวมันอาจทำให้เกิดเหตุบานปลาย ลุกลามกลายเป็นเรื่องการปล้นสะดมภ์ แย่งชิงจนถึงขั้นจลาจล ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มมีรายงานดังกล่าวเข้ามาแล้วเป็นระยะ และหากบรรยากาศยังเป็นแบบนี้ต่อไปมันก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะนี่ว่ากันเฉพาะเวลาน้ำท่วมอยู่เท่านั้น ในอนาคตหลังน้ำลดแล้วความวุ่นวายน่าจะเกิดมากขึ้นไปอีกหากไม่มีแผนรับมือที่ดีพอ เพราะต้องไม่ลืมว่าพื้นที่ประสบภัยนั้นกินบริเวณกว้างขวางหลายจังหวัด ตั้งแต่ภาคเหนือตอนบน ตอนล่างและภาคกลาง ซึ่งบรรยากาศดังกล่าวกำลังรออยู่ข้างหน้า และน่าจะเลวร้ายไม่แพ้กัน
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำก็คือ นอกจากเตรียมแผนเฉพาะหน้าในการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนที่เป็นอยู่แล้ว ต้องเตรียมแผนรับมือหลังน้ำลด เพราะหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอรับรองว่าอาจได้เห็นการเดินขบวนประท้วงปิดถนน เหตุการณ์จลาจลแย่งชิงก็ต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน!!