ผ่าประเด็นร้อน
ได้ยิน “ข่าวร้าย” ที่รายงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องว่าตอนนี้ “พนังกั้นน้ำ” กระสอบทรายในจุดนั้นจุดนี้พังทลายลงมาอย่างต่อเนื่อง น้ำกำลังทะลักเข้าสู่ตัวเมือง แหล่งชุมชน แหล่งเศรษฐกิจชั้นใน ศูนย์ราชการสำคัญจนต้องสั่งอพยพชาวบ้านกันเป็นโกลาหล
เวลานี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แตกแล้ว จังหวัดนครสวรรค์ก็แตกแล้ว แม้ว่าทางเทศบาลนครสวรรค์จะหาทางป้องกันที่มั่นสุดท้ายเอาไว้อย่างสุดความสามารถก็ตาม หรือเวลานี้นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ในอยุธยา ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแหล่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ก็ไม่รอด
ล่าสุดน้ำกำลังไหลทะลักเข้าโจมตีจังหวัดปทุมธานี และบางส่วนไหลบ่าเข้ามายังจังหวัดนนทบุรี และลำดับต่อไปน้ำกำลังมุ่งหน้ามาที่กรุงเทพมหานคร
บรรยากาศดังกล่าวทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่สอง หรือตอน “กรุงแตก” ไม่มีผิด เพียงแต่ว่าคราวก่อนเป็น “ข้าศึก” รุกรานโจมตีเข้ามาทุกทิศทาง แต่คราวนี้ผิดกันแต่ว่าเป็นปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลโจมตีเข้ามาจากทางเหนือ เหมือนกับ “ไล่ตี” ตาม “หัวเมือง” จนแตกรายทางเรื่อยมาและกำลังจ่อโจมตี “เมืองหลวง” คือกรุงเทพฯ ทำให้ต้องหวนนึกภาพอย่างนั้นจริงๆ เห็นภาพความเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างชัดเจน
หากให้ประเมินโดยพิจารณาจากปริมาณน้ำเหนือ และพื้นที่รองรับอื่นๆ ทั้งนครสวรรค์ อยุธยา หรือแม้แต่ลพบุรีก่อนหน้านี้ และกำลังเจาะเข้ามาตามประตูและคันกั้นน้ำที่ชายแดนปทุมธานีซึ่งเป็นด่านสุดท้ายก่อนจะมาถึงเมืองหลวง ก็ต้องบอกคำเดียวว่า “วิกฤต” ที่สุดแล้ว
ประกอบกับได้เห็นวิธีการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ยังไม่มีความเชื่อมั่น ไม่อาจทำให้อุ่นใจจนนั่งอยู่เฉยๆ ได้เลย
ประเภทที่บอกว่า “มั่นใจได้-เอาอยู่” ทำให้เข้าใจว่าย่อมมี “ความหมายตรงข้าม” และเตรียมเผ่นกันได้แล้ว ความรู้สึกแสดงออกมาแบบนั้นจริงๆ
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (12 ตุลาคม) นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกมาแถลงยอมรับแล้วว่าไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ โดยอ้างหลายปัจจัยเป็นอุปสรรค เช่น ชาวบ้านแอบรื้อคันกั้นน้ำ กระสอบทรายแช่น้ำนานๆทำให้เปื่อยยุ่ย เป็นต้น พร้อมทั้งได้เตรียมแผนอพยพเป็นแผนสำรองแล้ว
นั่นก็หมายความว่าปริมาณที่ไหลบ่าลงมากำลังเข้าสู่กรุงเทพมหานครนั้นอยู่เหนือการควบคุม และ “น่าจะเอาไม่อยู่” ต่างจากคำยืนยันก่อนหน้านี้ที่บอกว่า “เอาอยู่” ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรประมาณนั้น
ขณะเดียวกันมีการประกาศจากกรุงเทพมหานครเพิ่มพื้นที่เสี่ยงจากเดิมที่เคยกำหนดเอาไว้จำนวน 15 เขต ก็ย่อมประเมินได้ดีว่าแนวโน้มสถานการณ์เป็นแบบใด
เมื่อดูแล้วมันน่าเป็นห่วง ก็ต้องเตรียมแผนรับมือเอาไว้ให้พร้อมที่สุด เนื่องจากได้เห็นบทเรียนทั้งจากในพื้นที่ อยุธยา นครสวรรค์ ที่ผ่านมา นั่นคือแผนการอพยพเอาไว้ให้พร้อม ครอบครัวไหนที่มีเด็ก คนแก่ คนพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รวมไปถึงทรัพย์สินที่มีค่า เช่น รถยนต์ ทรัพย์สินเครื่องใช้ภายในบ้าน ก็น่าจะเตรียมหาทางขยับขยายขนย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่สูง ที่ปลอดภัยที่สุด หรือไม่ก็เล็งๆ เอาไว้ก่อนล่วงหน้า แม้อาจจะยังไม่ต้องอพยพขนย้ายก็ได้ แต่ให้เพ็กข้าวของ ซักซ้อมทำความเข้าใจกับคนในครอบครัวให้พร้อม โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่มีการเตือนเอาไว้ล่วงหน้า ยิ่งต้องทำ
แน่นอนว่าการเตรียมการแบบนี้อาจมองว่าเป็นการ “ตื่นตูม” ตระหนกตกใจเกินเหตุ แต่ช่วยไม่ได้ เพราะดูแล้วบรรยากาศมันน่ากลัวจริงๆ และถ้ามาถึงแล้วแก้ไขไม่ทันการณ์ ก็ลองหลับตานึกภาพก็แล้วกันว่ามันจะเดือดร้อนกันแค่ไหน
ที่สำคัญปริมาณที่กำลังไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางดังกล่าวและกำลังจ่อถล่มเข้ากรุงเทพมหานครนั้น ยังไม่ใช่ปริมาณน้ำในระดับสูงสุด ยังเป็นแค่ “หัวน้ำ” เท่านั้น ยัง “ไม่ใช่ปลายน้ำ” คาดว่าต้องใช้เวลาอีกนานนับเดือนกว่าจะฝ่าวิกฤติไปได้
ดังนั้น ถ้าพิจารณาถึงตอนนี้ก็ต้องทำใจเตรียมพร้อมเอาไว้ได้แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่ทางการได้เคยประกาศเตือนเอาไว้ ต้องเก็บของ หรือขนทรัพย์สินเอาไว้ในที่สูง รวมไปถึงมองหาพื้นที่ปลอดภัยอื่นๆ สำหรับไว้รองรับทรัพย์สินขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ ให้พร้อม เพราะนาทีนี้ถือว่ามันวิกฤตจริงๆ และต้องจดจำเอาไว้เป็นบทเรียนว่าอย่าไปหวังพึ่งพาหรือเชื่อใจหน่วยงานรัฐมากเกินไป ต้องเชื่อมั่นตัวเองเป็นอันดับแรก ที่สำคัญต้องไม่ประมาท อย่าตื่นตระหนก แต่ต้องเพ็กของเตรียมอพยพเอาไว้ให้พร้อมได้แล้ว!!