xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” เผยแผนรับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯ เตือน จ.นครสวรรค์รับน้ำหนักสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  (แฟ้มภาพ)
นายกฯ แจงผ่านจอ ชี้แนวโน้มภาคเหนือ-กลางตอนบนฝนตกน้อยลง คาดปริมาณน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอีกไม่เกิน 20 เซนติเมตร สั่งระดมสรรพกำลังรับมือเต็มที่ จี้เร่งขุดคลองจาก 1 เดือน เป็น 7-10 วัน เตือน 12-13 ต.ค. นครสวรรค์รับน้ำหนักสุดตลอด 1 สัปดาห์ ก่อนลดลงตามลำดับ


วันที่ 9 ต.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์ความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมว่า ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมชลประทานว่าปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน เริ่มมีแนวโน้มลดน้อยลง ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะยังคงสูงอีกไม่มากนัก โดยคาดว่าจะมีระดับน้ำสูงสุดที่จังหวัดนครสวรรค์ในช่วงวันที่ 12-13 ตุลาคม 2554 ประมาณ 4,800-4,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทรงตัวอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ ทั้งนี้ ระดับน้ำในลำน้ำเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นจากปัจจุบันทุกจุดประมาณโดยเฉลี่ยไม่เกิน 20 เซนติเมตร ขอให้ผู้เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำ และเฝ้าระวังเสริมคันกั้นน้ำให้มั่นคง เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังอาจได้รับผลกระทบเกิดปัญหาน้ำท่วมเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ได้แก่ บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณอำเภออุทัย อำเภอบางปะอิน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้ำจากแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่จะไหลต่อเนื่องลงมา ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนการเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกมีสถานีสูบน้ำ 188 แห่ง ประตูระบายน้ำ 214 แห่ง ทางกรุงเทพมหานครจะเร่งเตรียมรับน้ำพร้อมที่จะระบายได้ ส่วนบริเวณด้านตะวันออกตอนใต้ของ กทม. บริเวณสุวรรณภูมิ เมื่อมีน้ำเข้ามาจะใช้คลอง 5 แห่ง คือ คลองหนองงูเห่า คลองบางโฉลง คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต คลองจรเข้ใหญ่ คลองลาดกระบัง เพื่อรับน้ำออกสู่ทะเล โดยตอนล่างจะมีสถานีสูบน้ำ 8 แห่ง ทำหน้าที่ผลักน้ำที่เข้ามาทั้งหมดลงสู่ทะเล ซึ่งทั้งหมดนี้ได้สั่งให้มีการเตรียมการให้ขุดลอกคลองดังกล่าว ให้แล้วเสร็จจากเดิมประมาณ 1 เดือน ให้เร่งดำเนินการภายใน 7-10 วัน โดยระดมสรรพกำลัง ทั้งทหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ และได้ให้มีการเตรียมความพร้อมของเครื่องสูบน้ำทั้ง 8 แห่ง ไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว

สำหรับประชาชนที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร บริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำ และบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้เตรียมตัวขนย้ายทรัพย์สินมีค่า สิ่งของที่จำเป็นออกนอกพื้นที่ และให้เฝ้าติดตามสถานการณ์จาก ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ.เป็นระยะ

ทั้งนี้ รัฐบาลอยากขอความร่วมมือจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเคเบิ้ลทีวี เครือข่ายสังคมออนไลน์ SocialMedia ช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจาก ศปภ.ต่อไปด้วย ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้มีการปรับแผน และมาตรการทำงานของ ศปภ.ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งในวันนี้ ได้ให้มีการตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วมให้ความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าสามารถป้องกันได้ให้หาวิธีการป้องกันเต็มที่ โดยสามารถร้องขอการสนับสนุนจาก ศปภ. ได้ตลอดเวลาโดยได้แบ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถป้องกันได้ และกลุ่มที่ไม่สามารถป้องกันได้ โดยกลุ่มที่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้น้ำท่วมได้ เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย ก็ขอให้ประชาชนอพยพจากพื้นที่ไปพักที่สถานที่ทางราชการจัดให้ ซึ่งทางฝ่ายประชาสัมพันธ์จะได้แจ้งให้ประชาชนทราบว่า มีที่ใดบ้าง เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะใช้ที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ขณะที่ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน เข้าไปป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมอื่นให้ได้ หากได้รับความเสียหายจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง สำหรับนิคมอุตสาหกรรมโรจนะนั้น ขณะนี้ได้รับรายงานว่า โรงงานที่จมน้ำคือบริเวณเฟส 1 ซึ่งอยู่ระหว่างการกู้ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ ส่วนเฟส 2 และ 3 จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนไม่ต้องตระหนกตกใจหรือหวาดหวั่นกับข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้น รัฐบาลจะชี้แจงให้ประชาชนทราบผ่าน ศปภ.เป็นระยะ และขณะนี้รัฐบาลได้รับทราบ และเข้าใจปัญหาจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี และจะได้ประมวลมากำหนดเป็นมาตรการเยียวยา และฟื้นฟูประชาชน และผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยต่อไป รวมถึงการแก้ไขปัญหาฟื้นฟูในระยะยาว แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำเพื่อมิให้มีผลกระทบในระยะยาวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น