ที่ประชุม กมธ.ทั้ง 35 คณะ รับทราบการใช้อำนาจ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกมาชี้แจง ย้ำเชิญใครมาชี้แจงต้องเป็นมติเท่านั้น ห้ามใช้อำนาจกลั่นแกล้งใครหวั่นถูกฟ้องกลับ เปิดทางเชิญองค์กรอิสระมาได้ แต่ต้องไม่กระทบการทำหน้าที่ ขอดูช่วงทดลองงาน 3 เดือน ก่อนปรับความเหมาะสมอีกครั้ง กำชับตั้งที่ปรึกษา กมธ.หากมีปัญหาประธานคณะนั้นรับผิดชอบเอง
วันนี้ (4 ต.ค.) ในการประชุมตัวแทนคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฏรทั้ง 35 คณะ และประธานคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา 23 คณะ โดยมี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ร่วมกับฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา และ นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ. 2554 โดยการประชุมเพื่อทำความเข้าใจในอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะการใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยประเด็นที่ที่ประชุมให้ความสำคัญซักถามกันมาคือ อำนาจกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกบุคคลให้มาชี้แจงและให้มอบเอกสารต่อกรรมาธิการ ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าการออกคำสั่งเรียกกรรมาธิการควรใช้อำนาจตามระเบียบที่มีอยู่เดิมในการเชิญบุคคลให้มาชี้แจงก่อน หากไม่ได้รับการตอบสนองและประเด็นที่ต้องการศึกษาพิจารณามีความจำเป็นจริงๆ ให้คณะกรรมาธิการมีมติออกคำสั่งเรียกให้มาชี้แจง นอกจากนี้ที่ประชุมยังสอบถามถึงอำนาจในการเชิญตัวแทนหรือผู้บริหารองค์กรอิสระให้มาชี้แจง โดยตัวแทนฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรชี้แจงว่า การเชิญองค์กรอิสระมาชี้แจงสามารถทำได้ ถ้าไม่กระทบต่อการทำหน้าที่หรืองานโดยตรงขององค์กรอิสระนั้น
ด้าน นายเจริญกล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะจัดเจ้าหน้าที่ประสานกรรมาธิการเพื่อทำความเข้าใจข้อกฎหมาย โดยจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของมาประจำที่รัฐสภาทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี ทั้งนี้ เวลาเชิญหรือออกคำสั่งเรียกบุคคลต้องมีความชัดเจน โดยการออกคำสั่งเชิญจะมีแบบฟอร์ของรัฐสภาให้ใช้ ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าวคล้ายกับการแบบฟอร์มเชิญมาให้ปากคำของศาล อย่างไรก็ดี การให้เหตุผลในการเชิญต้องมีการกำหนดรายละเอียดและเหตุผลให้ชัดเจน ทั้งนี้ขอให้ช่วงเวลา 3 เดือนต่อไปนี้เป็นการทดลองการทำงานไปก่อนจากนั้น จึงมาซักซ้อมทำความเข้าใจให้เกิดความเหมาะสมอีกครั้ง
นายเจริญยังย้ำด้วยว่า ขอให้กรรมาธิการทำงานด้วยความระมัดระวัง เพราะ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ กำหนดให้กรรมาธิการทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ดังนั้นหากทำหน้าที่เข้าข่ายกลั่นแกล้งผู้อื่น อาจจะมีเรียกฟ้องร้องตามมา รวมไปถึงการแต่งตั้งบุคคลมาที่ปรึกษาต่างๆของคณะกรรมาธิการนั้น ผู้เป็นประธานกรรมาธิการแต่ละคณะต้องเป้นผู้รับผิดชอบด้วยตัวเอง หากมีปัญหาตามมาในภายหลัง นอกจากนี้ นายเจริญได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ามีแนวคิดจะยกเลิกระเบียบของสภาที่ให้คณะกรรมาธิการแต่ละคณะจะต้องทำรายงานการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะไม่เห็นความจำเป็นและยังเป็นการสร้างภาระให้กับกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่
“ขอให้ประธานกรรมาธิการแต่ละคณะพึงสังวรให้ดี และทำความเข้าใจกับกรรมาธิการของท่านด้วยว่าต่อไปนี้ถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่อยู่ หากไปแพร่งพรายในเรื่องอะไรที่เป็นความลับของทางราชการ อาจมีความผิดตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้นขอให้ไปซักซ้อมกรรมาธิการของท่านด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหาตามมา” นายเจริญกล่าวย้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการเชิญบุคคลมาชี้แจงจะมีการจ่ายค่าเดินทางให้ผู้มาชี้แจง โดยกรรมาธิการแต่ละคณะจะมีวงเงินสำหรับเป็นค่าเดินทางคณะละ 4 แสนบาท ต่อคณะต่อปี (รวมแล้วทั้งสองสภาคิดเป็นงบประมาณ 23,200,000 บาท) โดยให้กรรมาธิการแต่ละคณะไปบริหารจัดการกันเอง หากงบประมาณเหลือให้กรรมาธิการไปบริหารจัดการตามความเหมาะสม