xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อแกรมมี่ขยับ ทรูวิชั่นส์ก็สะเทือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกือบ 15 ปีที่ทรูวิชั่นส์ ผูกขาด ธุรกิจทีวีแบบบอกรับเป็นสมาชิก หรือที่เคยเรียกกันว่า เคเบิลทีวีในประเทศไทย นับตั้งแต่ การเข้าซื้อกิจการเคเบิลทีวี ไอบีซี เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งขณะนั้น ทรูวิชั่นส์ ใช้ชื่อว่า ยูบีซี

ถึงแม้ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะมีเคเบิล ทีวี และทีวีดาวเทียมกิดขึ้นมากมาย ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ แต่ก็มีลักษณะที่เป็นท้องถิ่น เป็นรายย่อย ที่กระจัดกระจาย มีเนื้อหารายการที่ยังไม่ได้คุณภาพสักเท่าไรนัก ไม่อาจกล่าวได้ว่า เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมเหล่านี้ เป็นคู่แข่งกับทรูวิชั่นส์ได้

แต่เมื่อจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ประกาศตัวว่า จะเข้าสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม อย่างเต็มตัว ด้วยการเป็น “ แพลตฟอร์ม โอปะเรเตอร์” หรือ ผู้บริหารช่องสถานีทีวีดาวเทียม และ เป็นผู้ผลิตรายการทีวีดาวเทียมเองด้วย ทรูวิชั่นส์ ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขัน จากคู่แข่งที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านเทคโนโลยี่ และการผลิต รายการเป็นครั้งแรก

การผลิตและขายกล่อง “ วันสกาย” ซึ่งเป็น กล่องรับสัญญาณทีวีผ่านดาวเทียมในระบบ ซี แบนด์ และเคยู แบนด์ แม้ จีเอ็ม เอ็ม แกรมมี่ จะตั้งเป้าหมายรายได้ ว่า จะขายกล่องวันสกาย ในปีแรก คือ ปี 2555 ได้ถึง 2,500 ล้านบาท ปีที่สอง 2,800 ล้านบาท และปีที่สาม ร 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตปีละ 12% แต่วัตถุประสงค์ที่สำคัญไม่แพ้การสร้างรายได้คือ การเป็นผู้จัดระเบียบ และกำหนดมาตรฐาน ทีวีดาวเทียมในประเทศไทย โดยใช้กล่องรับสัญญาณวันสกาย เป็นเครื่องมือ

ปัจจุบัน ทีวีดาวเทียมในประเทศไทย มีนับร้อยๆช่อง ผู้ชมต่างมีปัญหาสับสนว่า รายการไหน อยู่ช่องไหน เพราะระบบการเรียงช่องไม่มีมาตรฐาน ขึ้นอยู่กับ ผู้ขายจานดาวเทียม และกล่องรับสัญญาณ จะเป็นผู้กำหนด และเกิดมีการเรียกเก็บเงินค่าเรียงช่อง จากผู้ผลิตรายการ ที่ต้องการให้รายการของตนอยู่ในช่องหมายเลขต้นๆ หรือหมายเลขที่จำง่าย ซึ่งเป็นช่องที่มีโอกาสที่ผู้ชมจะเลือกก่อน

ไอเดียของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่คือ กระจายกล่องวันสกายให้ครบคลุมครัวเรือน ที่รับชมทีวีดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ ประมาณ 13 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ นอกจากจะมีรายได้จากการขายกล่องแล้ว ยังทำให้ ผู้ผลิตรายการทีวีดาวเทียม ต้องนำรายการของตนมาเข้ากล่องวันสกาย เพราะเป็นช่องทางเดียวที่ รายการของตนจะเดินทางไปถึง เครื่องรับทีวีทั่วประเทศได้ โดยที่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ประกาศว่า จะไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ และจะมีการจัดหมวดหมู่ ประเภทของรายกา รเพื่อให้ผู้ชมเลือกชมได้โดยสะดวก

กล่องวันสกายนี้ จะขายเป็นแพ็คเก็จไปพร้อมกับ ผู้ผลิตจานรับสํญญาณดาวเทียม 6 ราย คือ สามารถ ไดนาแซท อินโฟแซท ไทยแซท ไอเดีย แซท และลีโอเทค

ปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีช่องรายการทีวีดาวเทียมของตนเอง 6 ช่อง และจะเปิดช่องกีฬาอีก 3 ช่องในปีนี้ ให้ดูฟรี และ แบบเก็บเงินอีก 3 ช่องในปีหน้า การดึงผู้ผลิตรายการทีวีดาวเทียม มาเข้ากล่องวันสกาย มากๆ คือ การสร้างสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของตนเองขึ้นมา แบบลงทุนน้อยกและง่ายที่สุด เพราะจุดขายของทีวีดาวเทียมคือ ต้องมีช่องมากๆ เป็นร้อยๆช่องยิ่งดี

แกรมมี่ กำหนดว่า ภายใต้ระบบทีวีดาวเทียมของตน จะมีช่องต่างๆ ทั้งที่เป็นช่องดูฟรี ช่องเก็บเงิน ทั้งที่ทำเอง และเป็นรายการของคนอื่น รวมแล้วประมาณ 200 ช่อง หากเป็นจริงตามนี้ “ วันสกาย” ก็จะเป็นเครือข่ายทีวีดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

การก้าวเข้าสู่ทีวีดาวเทียมอย่างเต็มตัวของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อาจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรูวิชั่นส์ ต้องทำโปรโมชั่นครั้งใหญ่ที่สุด คือ การเปลี่ยนกล่องรับสัญญาณทรู ให้เป็นกล่องที่รับสัญญาณระบบเอชดี ที่มีคุณภาพคมชัด ให้กับสมาชิกแบบให้ฟรี ทั้งระบบเคเบิล และระบบดาวเทียม เพื่อรับมือการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ได้

ที่ผ่านมา ทรูวิชั่นส์ มีจุดแข็งในเรื่อง รายการ โดยเฉพาะรายการถ่ายทอดสดกีฬา ที่มีการแข่งขันฟุตบอล พรีเมียร์ ลีกส์ เป็นจุดขายที่สำคัญยิ่ง ในขณะที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็ใช้รายการกีฬา เป็นจุดขายด้วยเช่นกัน ซึง่ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรป ปีหน้า หรือยูโร 2012 แกรมมี่ ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในประเทศไทย และมีรายงานข่าวว่า ยังได้ลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดฟุตบอลบุนเดสสิก้าของเยอรมันนี้ ในฤดูกาลหน้าด้วย ในขณะที่ ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ ลีกส์ ของทรู วิชั่นส์ ในฤดูกาลนิ้จะเป็นปีสุด้ทาย ต้องประมูลใหม่ในปีหน้า ซึ่งแกรมมื่คงจะต้องแย่งลิขสิทธิ์นี้มาเป็นของตนให้ได้

ถึงเวลาที่ทรูวิชั่นส์ ต้องลุกขึ้นมารับมือกับการแข่งขันแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น