มาตรการคืนภาษีรถคันแรก 1 แสนบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงที่พรรคเพื่อไทยสัญญาไว้ว่า “ทำทันที” คลอดออกมาแล้ว ปรากฎว่ากระแสตอบรับจากประชาชนดูเหมือน จะ“เฉยๆ” ไม่ฮือฮาสักเท่าไร สาเหตุสำคัญก็คงจะเป็นเพราะว่า การลดภาษีรถคันแรกนี้ผู้ได้ประโยชน์ใม่ใช่ประชาชนทุกคน แต่ได้เฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และมีความต้องการซื้อรถที่เข้าข่ายที่จะได้รับการลดภาษีคันแรกอยู่แล้ว
โครงการยกเว้นภาษีสรรพสามิตรถคันแรกนี้ ยกเว้นภาษีให้กับผู้ซื้อรถคันแรกราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจำกัดเฉพาะรถยนต์นั่งหรือรถเก๋งขนาดไม่เกิน 1,500 ซีซี และปิกอัพทุกประเภทเท่านั้น และภาษีสรรพสามิตที่จะได้รับยกเว้นก็ไม่ใช่ 1 แสนบาททุกคัน หากแต่คิดตามอัตราภาษีสรรพสามิตของรถแต่ละรุ่น
รถอีโคคาร์หรือรถเก๋งที่มีขนาดไม่เกิน 1,500 ซีซี มีอัตราภาษาสรรพสามิต 17% ของราคาขายประมาณ 5 แสนบาท ได้ยกเว้นภาษีมากหน่อยคือประมาณ 8 หมื่นกว่าบาท ผู้ซื้อรถในกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่คือคนที่เพิ่งทำงาน จึงนับเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุด
ส่วนอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถปิกอัพมีอัตราต่ำเพียง 3 % หรือ 12% สำหรับปิกอัพ 4 ประตู ผู้ซื้อจึงได้รับยกเว้นภาษีเพียงหมื่นกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งไม่มากมายอะไร แต่ต้องถูกผูกมัดด้วยเงื่อไขห้ามโอนสิทธิก่อน 5 ปี
ฝ่ายที่คึกคัก กระตือรือร้น อ้าแขนตอบรับมาตรการนี้มากกว่าใครเพื่อนกลับเป็น อุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีการผลิตรถอีโคคาร์ เพราะได้รับประโยชน์เต็มๆ จู่ๆ รัฐบาลก็เอาเงินภาษี 30,000 ล้านบาท ซึ่งต้องสูญเสียไปจากการยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ซื้อรถคันแรก มาจัดโปรโมชั่นที่ยาวนานถึง 1 ปี 3 เดือนให้ แทนที่ค่ายรถจะต้องควักกระเป๋ากันเอง
หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการคืนเงินภาษีผู้ซื้อรถคันแรกเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา บรรดาผู้บริหารค่ายรถยนต์ต่างพูดถึงอานิสงส์ของโครงการนี้ว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ขนาดเล็กหรืออีโคคาร์และรถปิกอัพในประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จากผลของนโยบายรถคันแรกนี้น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดในช่วงที่เหลือของปี 54 ท่ามกลางการแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของค่ายรถออกมาทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 54 นี้มีโอกาสขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12 ถึง 17 หรือคิดเป็นจำนวนยอดขายรถยนต์ 900,000 ถึง 940,000 คัน เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าที่ 880,000 ถึง 920,000 คัน
และเนื่องจากผลของนโยบายดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 55 ประกอบกับจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่เตรียมจะเปิดตัวออกสู่ตลาดในปีหน้านี้ ทำให้คาดว่าตลาดรถยนต์จะยังได้รับอานิสงส์ของนโยบายต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2555 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 55 มีโอกาสขยายตัวร้อยละ 7 ถึง 12 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ 980,000 ถึง 1,030,000 คัน
นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า มาตรการคืนภาษีผู้ซื้อรถคันแรกถือเป็นสิ่งที่ดีในการช่วยกระตุ้นตลาดและอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ทำให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ส่งผลบวกต่อวงจรการผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประกอบรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วน ตลอดจนกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดซึ่งย่อมจะทำให้เกิดผลดีต่อสภาวะเศรษฐกิจไทยได้
นางสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า รถเก๋งขนาดเล็กเป็นตลาดใหญ่ในกลุ่มรถยนต์นั่ง โดยปีที่ผ่านมามียอดขายกว่า 2.2 แสนคัน และเมื่อมาตรการคืนเงินภาษีรถคันแรกของรัฐบาลออกมา มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้มีตัวเลขการเติบโตอย่างมาก ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมากกว่า 2.5 แสนคันแน่นอน
ถ้าอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ยังไม่แข็งแรง ช่วยตัวเองไม่ได้ มาตรการคืนภาษีรถคันแรกก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผล เพราะเป็นการช่วยเหลือทางอ้อมแก่อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ
ถ้าอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยเป็นเจ้าของ มาตรการนี้ก็จะเป็นประโยชน์ในแง่ของการส่งเสริมอุตสหากรรมที่เป็นของคนไทยด้วยกัน
แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งมากอุตสาหกรรมหนึ่ง เพราะได้รับการเกื้อกูลจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ๆ ของโลกโดยเฉพาะญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก
ตลาดรถยนต์ในประเทศนั้นก็ขยายตัวทุกปี เพราะรัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยส่งเสริมการใช้รถยนต์มากกว่าระบบขนส่งสาธรณะ ยอดขายรถยนต์จึงไม่มีตก มีแต่จะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยเท่านั้น
อุตสาหกรรมยานยนต์จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลเพราะสามารถพุ่งตัวเองได้เป็นอย่างดี มาตรการลดภาษีรถคันแรกที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะช่วยเหลือประชาชน สุดท้ายแล้วเป็นส้มหล่นลูกใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สมควรจะขอบคุณรัฐบาลไทย