xs
xsm
sm
md
lg

กสม.หนุน กม.คุ้มครองสิทธิเด็ก ยึดหลักสากล ด้าน ตร.บ่นทำงานลำบาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสม.เปิดเวทีถกปัญหา พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวคุ้มครองหรือลิดรอนสิทธิเด็กและเยาวชน ชี้เรื่องสิทธิเด็ก-เยาวชน สังคมไทยเข้าใจยาก แต่ต้องมองมิติระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หนุน กม.ทันสมัยและเป็นไปตามหลักสากล ด้าน ตร.เปรียบเหมือนเหรียญสองด้าน เสนอต้องทบทวนบทบาทในการใช้อำนาจการจับที่ใช้การคุ้มครองมากกว่าการใช้อำนาจทางกฎหมาย โอดทำงานลำบาก

วันนี้ (16 ก.ย.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว : คุ้มครองหรือลิดรอนสิทธิเด็กและเยาวชน โดยนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเด็ก ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งนี้ สังคมไทยที่ผ่านมาได้พยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้ แต่เรื่องเด็กและเยาวชนยังเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่เข้าใจอย่างทั่วถึงมากเท่าไหร่ เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีความชัดเจนว่าจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองเพียงแค่ความสงสารที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก แต่ต้องมองในมิติระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่มนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดไม่สามารถตัดทอนหรือจำกัดได้ เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงมุมมองในมิตินี้จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากสังคมไทยเรายังไม่เคยชิน ดังนั้นสิทธิเด็กและเยาวชนจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกำหนดมาตรการและกลไกให้เป็นไปตามกฎหมายและอนุสัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะรัฐ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจะต้องกำหนดมาตรการตามกฎหมายและอนุสัญญาต่างๆ ดำเนินการเชิงรุกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน

ด้าน นางวิสา เบ็ญจะมโน กสม.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิเด็ก สิทธิสตรี และสิทธิความเสมอภาค ได้กล่าวเสวนาในหัวข้อ ปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรม โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวที่มีการบังคับใช้มาได้ประมาณ 5 เดือน ถือว่าเป็นเรื่องที่ทันสมัยและทันต่อกระแสโลกที่สอดคล้องกับหลักสากล เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้มุ่งจะปกป้อง คุ้มครอง แก้ไข ฟื้นฟู เด็กและครอบครัว โดยมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ระบุว่าให้มีการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวในทุกจังหวัด ซึ่งปัจจุบันได้มีครบทุกจังหวัดแล้ว ทั้งนี้ในส่วนของมีกระบวนการพิจารณาที่คำนึงถึงสิทธิเด็กและเยาวชนที่มีผู้พิพากษาสมทบที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มาร่วมพิจารณา ทั้งนี้ จากการที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานพินิจเด็กและเยาวชนพบว่ามีการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสออกมาเรียนข้างนอกและมีการประสานงานกับกรมจัดหางาน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี การเปิดโอกาสให้มีศูนย์ฝึกอบรมเป็นการเปิดกว้างร่วมกันระหว่างหลายภาคส่วน เพื่อคืนเด็กสู่สังคม ส่วนเรื่องการสอบสวนคดีอาญา สิทธิพลเมืองของเด็กและสิทธิในกระบวนการบุติธรรม ทั้งการจับกุม การออกหมายจับ การคุมขัง และการสอบสวนจะต้องคำนึงถึงสิทธิเด็ก อย่างไรก็ตาม กสม.จะทำหน้าที่ติดตามเรื่องสิทธิเด็กและเยาวชน เพื่อสะท้อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

ขณะที่ พล.ต.ท.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีสองด้าน ทั้งด้านดีที่มีการคุ้มครองและด้านเสียในการลิดรอนสิทธิ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่จับกุม ทั้งนี้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวนั้นมีการขยายรายละเอียดในกฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีการเลี่ยงคำว่าจับกุม เป็นการแจ้งข้อกล่าวหานั้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีอำนาจจับกุมเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดได้หากเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า ซึ่งเป็นความยากลำบากในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเกรงว่าจะเป็นการลิดรอนสิทธิเด็กและเยาวชน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทบทวนบทบาทในการใช้อำนาจในการจับที่ใช้การคุ้มครองมากกว่าการใช้อำนาจทางกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น